จุดเริ่มต้นในการทำเกษตรแบบพอเพียง
พี่บุญล้อมไม่ได้ชอบทำงานด้านการเกษตร เนื่องจากมองว่าเห็นคุณพ่อทำนามาตั้งแต่ตัวเองยังเป็นเด็ก มีความลำบากและรายได้น้อย จึงพยายามเรียนเพื่อให้ออกห่างจากภาคเกษตร เมื่อเรียนจบจึงเริ่มทำงาน 1 ปี แต่ไม่ประสบความสำเร็จ พี่บุญล้อมจึงหันมาสู่อาชีพค้าขาย มีรายได้ดีแต่มีการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและมีหนี้อยู่ 3 แสน พี่บุญล้อมพยายามต่อสู้แต่ก็ไปไม่รอด จึงกลับมาทำการเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ร่วมกับคุณพ่อ
โดยคุณพ่อเริ่มต้นจากการศึกษาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โดยศึกษาดูงานที่วัดมงคลชัยวัฒนา อ.เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นโครงการที่รัชกาลที่ 9 ได้ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ไว้ที่นั่น คุณพ่อจึงไปศึกษาที่โครงการและนำมาปรับใช้กับพื้นที่ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2535
ในปี พ.ศ.2542 พี่บุญล้อมจึงได้กลับมาทำงานร่วมกับคุณพ่อและศึกษาเรียนรู้จากอาจารย์ยักษ์ ถึงรูปแบบการทำการเกษตรจากแนวคิดของรัชกาลที่ 9 ทำให้เห็นภาพและศึกษาทำความเข้าใจจึงได้กลับมาช่วยคุณพ่อพัฒนาที่พื้นที่และขับเคลื่อนร่วมกับอาจารย์ยักษ์
จากที่พี่บุญล้อมมีหนี้ 3 แสน คุณพ่อได้เสนอแนวทางการปลดหนี้ โดยการปลูกผักให้หลากหลาย จากการปลูกผัก 15 ชนิด เช่น พริก กะเพรา โหระพา เก็บชนิดละ 10 ถุง ออกจำหน่าย ทำให้มีรายได้เฉลี่ยวันละ 1,500 บาท
หากเราปลูกผักแค่ 1 ชนิดแล้วจำหน่ายไม่หมด ราคาจะถูกลงเรื่อย ๆ ในแต่ละวันเนื่องจากผักจะเริ่มไม่สดแล้ว แต่หากใช้แนวความคิดนี้เราจะสามารถจำหน่ายผักได้หลากหลายชนิดและลูกค้าแต่ละรายจะซื้อผักมากว่า 1 อย่าง ใช้เวลาขายแค่ไม่กี่ชั่วโมงผักที่เตรียมไปขายก็หมดแล้ว และลูกค้าจะเข้ามาซื้อทุกวันแต่จะเปลี่ยนเมนูผักไปเรื่อย ๆ เนื่องจากมีผักจำหน่ายหลากหลายชนิดให้เลือก โดยใช้แนวคิดในการปลูกพืชที่หลากหลายไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว หากวันไหนที่ราคาผักชนิดนั้นราคาไม่ดีเรายังสามารถจำหน่ายผักชนิดอื่นทดแทนได้ หากมีพื้นที่จำกัดควรปลูกพืชให้หลากหลายชนิดอย่าปลูกพืชเชิงเดี่ยว
นอกจากผักที่ปลูกไว้จะจำหน่ายได้แล้ว ยังสามารถเก็บกินได้ในครอบครัวไม่ต้องเสียเงินซื้อ ทำให้ไม่มีเงินที่ต้องจ่ายออกไปจึงเริ่มมีเงินเก็บจนสามารถปลดหนี้ได้ในระยะเวลา 2 ปี
จุดเริ่มต้นในการทำเศรษฐกิจพอเพียงคือ การแบ่งพื้นที่ ซึ่งจะมีการแบ่งพืนที่ออกเป็น 4 ส่วนดังนี้
1.น้ำ ต้องมีปริมาณเท่าไหร่ที่สามารถช่วยกักเก็บน้ำให้เพียงพอ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเลี้ยงสัตว์ ปลูกผักและอุปโภคบริโภค โดยจะแบ่งน้ำออกเป็น 30 เปอร์เซนต์ ทั้งขุดหนอง ขุดคลองใส่ไก่ หรือเก็บในตุ่มก็สามารถเป็นที่กักเก็บน้ำได้
2.นาข้าว ต้องปลูกข้าวไว้กินเองเนื่องจากเราไม่รู้ว่าข้าวที่ซื้อมาจากตลาดจะมีสารเคมีหรือสารปนเปื้อนอะไรบ้าง
3.การแบ่งพื้นที่สำหรับการปลูกผักเลี้ยงสัตว์
4.การสร้างที่อยู่อาศัยที่มั่นคง พอเหมาะ
ซึ่งการแบ่งพื้นที่หากมีพื้นที่น้อยแค่ 1 งานหรือ 1 ตารางคืบ ก็สามารถทำแนวคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียงได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องพื้นที่ ซึ่งพื้นที่ 1 ตารางคืบ สามารถปลูกพืชผักสวนครัวในตระกร้าและสามารถเก็บกินได้โดยที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อ
การสร้างแหล่งน้ำในพื้นที่
การขุดบ่อน้ำอาจจะต้องใช้เงินในการขุดจำนวนมาก แต่ที่สวนสละที่ 1 ไร่และยกดินให้กับคนที่ขุดดินไปขาย ทำให้ที่นี่ได้สระสำหรับใช้เก็บแหล่งน้ำและไม่ต้องเสียเงินจ้างรถมาขุด และมีการปล่อยปลาลงในบ่อ เช่น ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาดุก ปลาช่อน และมีทางน้ำเข้าจากที่นาของชาวบ้านเมื่อถึงช่วงหน้าแล้งปลาจากในนาข้าวจะหนีเข้ามาในบ่อ ทำให้ได้ปลาเพิ่มขึ้น ปลาที่เลี้ยงในบ่อหากต้องการนำมากินก็จะใช้เบ็ดมาตกเพื่อนำไปทำอาหาร ทำให้ไม่ต้องเสียเงินซื้อปลาในตลาด
การปลูกพืชผักสวนครัว
ที่สวนจะปลูกต้นขี้เหล็กเป็นรั้วใกล้ ๆ สวนผักเพื่อช่วงพรางลม แต่ผลพลอยได้คือ สามารถเก็บยอดขี้เหล็กไปขายวันละ 10 กิโลกรัม ราคาจำหน่ายที่กิโลกรัมละ 40 บาท ทำให้มีรายได้เพิ่มเติมอีกวันละ 400 บาท
ต้นขี้เหล็กที่ปลูกในสวนยังสามารถช่วยป้องกันแมลงได้ด้วย เนื่องจากแมลงหากจะบินเข้ามาในสวนจะต้องบินผ่านแนวต้นขี้เหล็กด้วยความสูงของต้นขี้เหล็กทำให้แมลงบินเลยผ่านพืชผักที่ปลูกไว้ทำให้ไม่มีแมลงมารบกวน
แนวคิดในการเริ่มต้นปลูกพืชผักสวนครัว เริ่มจากการจดบันทึกทุกวันเป็นระยะเวลา 2 เดือน ว่าวันไหนที่ต้องเสียเงินไปซื้อผักชนิดใดบ้าง จึงเลือกปลูกผักชนิดนั้นทำให้ไม่ต้องเสียเงินออกไปซื้อข้างนอก
พี่บุญล้อมจะปลูกกล้วยควบคู่ไปกับการปลูกผักและนำก้านกล้วยมาใช้ประโยชน์ โดยนำมาทำเป็นค้างสำหรับปลูกผักและใบกล้วยที่รูดออกนำมาคลุมดินกลายเป็นปุ๋ยได้อีกทางหนึ่ง
การปลูกข้าว
ที่สวนจะปลูกข้าวในพื้นที่ 4 ไร่ โดยคำนวณจากจำนวนสมาชิกในบ้าน 7 คน กินข้าวสารวันละ 3 ขีด ซึ่งปริมาณแค่ 3 ไร่เพียงพอ และมีการทำนาปรังควบคู่ไปด้วยสำหรับไว้เลี้ยงแขกที่มาเที่ยวที่สวน
พี่บุญล้อมทำแปลงนาโดยเน้นทำหัวคันนาที่ใหญ่ขนาด 1 เมตร หากฝนตกลงมาจะช่วยกักเก็บน้ำได้ดีโดยที่ไม่ต้องไปสูบน้ำเข้า ทำให้ไม่ต้องเปลืองน้ำมันและเสียเวลา
พื้นที่ 1 เมตรที่หัวคันนา พี่บุญล้อมจะปลูกพืชผักสวนครัวควบคู่ไปด้วย เช่น พริก กะเพรา โหระพา ปลูกรอบแปลงนา และปลูกใบเตยด้านล่างแปลงนาไปด้วยเนื่องจากใบเตยชอบน้ำ
การเลี้ยงสัตว์
พี่บุญล้อมเลี้ยงไก่พันธุ์ไข้ไว้จำนวน 100 ตัว สำหรับไว้กินไข่ แต่พี่บุญล้อมจะไม่กินไก่ที่เลี้ยงไว้ หากไก่หมดอายุขัยและตายพี่บุญล้อมจะนำซากไก่ไปทำน้ำหมัก โดยนำซากไก่ 3 กิโลกรัม รวมกับน้ำตาล 1 กิโลกรัม และน้ำ 10 ลิตร นำไปหมักระยะเวลา 3 เดือน เมื่อครบ 3 เดือน นำไปฉีดพ่นต้นไม้เป็นสูตรสำหรับเร่งการเจริญเติบโต
การให้อาหารไก่พี่บุญล้อมจะนำน้ำนมที่หมักไว้มาผสมกับอาหารไก่ โดยอาหารไก่จะอืดขึ้นมา ทำให้ช่วยประหยัดปริมาณอาหารไก่และไก่ได้โปรตีนจากน้ำนมทำให้ผลิตไข่ได้เต็มที่
การเลี้ยงเป็ดพี่บุญล้อมจะปล่อยเป็ดออกหากินตามร่องน้ำ จะมีหอยมีแหนที่เป็ดรับประทานเข้าไป ทำให้เป็ดได้สารอาหารที่ดีกว่าการกินอาหารทั่วไป
การเผาถ่าน
ที่สวนจะมีการทำเตาเผาถ่านไว้ใช้เอง โดยใช้การเผาถ่านแบบรีดความชื้นออกเพื่อไล่สารทาร์เหมาะสำหรับการนำไปปิ้งย่างโดยที่ไม่มีสารก่อมะเร็ง
ในการเผาถ่านจะได้น้ำส้มควันไม้จากการเผาถ่าน สามารถนำน้ำส้มควันไม้ไปฉีดพ่นป้องกันโรคและแมลงไว้สำหรับใช้งานในสวน
ขี้เถ้าที่ได้จากการเผาถ่าน พี่บุญล้อมจะนำไปละลายน้ำเพื่อนำไปทำเป็นน้ำด่าง นำมาเป็นส่วนผสมของน้ำยาอเนกประสงค์ เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ
การใช้วิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง
พี่บุญล้อมมองว่าการหันมาทำเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่อาชีพแต่เป็นวิถีชีวิต ที่ต้องดำเนินไปในทุก ๆ วัน เช่นตอนเช้า ออกมารดน้ำน้ำต้นไม้ช่วยกันดูแลพืชผักสวนครัวและไปทำงานด้านอื่น ๆ ต่อ
ที่สวนของพี่บุญล้อมมีฐานการเรียนรู้เรื่องการทำปุ๋ยหมัก
1. การทำจุลินทรีย์น้ำนม ที่ จ.สระบุรีจะมีน้ำนมค่อนข้างมาก พี่บุญล้อมจึงนำน้ำนมที่เสียแล้วมาหมักเป็นจุลินทรีย์น้ำนม โดยนำน้ำนมมาผสมกับกากน้ำตาลและจุลินทรีย์รสจืดหมักรวมกันมารวมกับเศษอาหาร เศษปลาหมัก นำไปฉีดพ่นข้าวและพืชผักผลไม้ สามารถใช้กับพืชทั้งหมด แม่กระทั่งตอซังข้าวหากนำจุลินทรีย์ชริดนี้ไปราดจะช่วยย่อยสลายได้ดีโดยที่ไม่ต้องเผา
2. การทำปุ๋ยจากมูลสัตว์ พี่บุญล้อมจะนำมูลสัตว์ที่เลี้ยงเช่น เป็ด หมู วัว ไก่ นำมาผสมรวมกันกลายเป็นปุ๋ยหมักแห้งเพื่อนำไปปรับปรุงดินทำให้ดินมีธาตุอาหาร เมื่อคลุกเคล้าเสร็จแล้วจะเก็บใส่กระสอบไว้จะกลายเป็นปุ๋ยหมักแห้งพร้อมสำหรับใช้งาน ซึ่งดินถือเป็นสิ่งสำคัญ หากดินดีมีความอุดมสมบูรณ์ก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยอะไรเลย โดยยึดหลัก “เลี้ยงดิน เพื่อให้ดินเลี้ยงพืช และให้พืชมาเลี้ยงคน”
การทำเกษตรพอเพียงใช้เงินเยอะมั้ย ?
การทำเกษตรพอเพียงสามารถนำของที่มีในพื้นที่มาดัดแปลงให้เป็นประโยชน์ต่อพืชผักในสวน ทั้งการทำสารเร่งการเจริญเติบโตของพืชและสารกำจัดแมลง โดยที่ไม่ต้องได้ใช้เงินซื้อ ซึ่งมีดังนี้ครับ
1.มูลสัตว์ จะใช้ผสมกับขี้หมู ขี้วัว ขี้ไก่ แกลบดิบ แกลบดำ รำละเอียด ซึ่งมีอยู่ในบริเวณบ้านอยู่แล้ว นำมาผสมและปรับปรุงบำรุงดินเพื่อให้เหมาะต่อการเพาะปลูกและอุดมสมบูรณ์
2.สารกำจัดแมลง หากมีแมลงมารบกวนจะใช้สูตรการทำน้ำหมัก รถเผ็ด รถฝาด กลิ่นฉุน ขม เมาเบื่อ นำมาป้องกันโรคและแมลง ซึ่งแต่ละอย่างมีปลูกอยู่ในพื้นที่
ทำเกษตรพอเพียงมีโอกาสรวยได้มั้ย ?
การทำเกษตรพอเพียงหากไม่มีหนี้ จะเริ่มมีเงินเก็บเนื่องจากแต่ละวันแทบไม่ต้องใช้เงิน ทำให้มีเงินเก็บเพิ่มมากขึ้น และการทำเกษตรแบบพอเพียงแทบไม่ต้องใช้เงินในชีวิตประจำวัน จึงไม่ต้องคอยประสบปัญหาสินค้าแพงหรือปัญหาเศรษฐกิจที่มนุษย์เงินเดือนต้องพบเจอ
คติในการใช้ชีวิต
การอยู่อย่างพอเพียงจะทำมให้เราประสบความสำเร็จ ถ้าเราโลภเมื่อไหร่ ความเสียหายจะเริ่มเกิดขึ้นทันที
ฝากถึงเกษตรกรที่อยากทำเศรษฐกิจพอเพียง
ให้หาทางเลือกของตัวเอง โดยการพยายามลดค่าใช้จ่ายให้น้อยลง ไม่จำเป็นต้องลาออกจากงานแล้วมาทำการเกษตร ให้ลองปลูกผักไว้รับทานเอง เพื่อลดค่าใช้จ่ายภายในบ้าน หากเรากินของดี ๆ ที่เราปลูกเองไม่มีสารเคมี จะทำให้เราแข็งแรงและไม่ป่วย จะทำให้เงินที่เราสะสมไว้ไม่ต้องไปใช้กับยารักษาโรค หากทำร่างกายให้ไม่เจ็บป่วยเราก็จะอยู่อย่างสุขสบาย
ที่สวนล้อมศรีรินทร์ จ.สระบุรี เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ ้เปิดให้คนเข้ามาศึกษาเรียนรู้และนำไปปรับใช้กับพื้นที่ของตัวเอง เพราะอยากส่งต่องานของพ่อ เพื่อให้งานนี้คงอยู่ตลอดไป และสำหรับเพื่อน ๆ เกษตรสัญจรที่สนใจอยากเรียนรู้การทำเกษตรแบบพอเพียงจากพี่บุญล้อม ที่สวนเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ สามารถเข้าไปศึกษาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สวนล้อมศรีรินทร์ จ.สระบุรี ได้เลยครับ
………………………………………
เกษตรสัญจร สื่อเกษตรยุคใหม่ แหล่งข้อมูลสาระที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
รวมเรื่องเด็ด เกษตรกูรู ศูนย์รวมความรู้และเทคนิคการทำเกษตร
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเกษตรเพิ่มเติมได้ที่ :
𝗙𝗮𝗰𝗲𝗯𝗼𝗼𝗸: เกษตรสัญจร
𝗟𝗜𝗡𝗘 𝗢𝗳𝗳𝗶𝗰𝗶𝗮𝗹: @kasetsanjorn
𝗕𝗹𝗼𝗰𝗸𝗱𝗶𝘁: blockdit.com/kasetsanjorn/
𝗬𝗼𝘂𝗧𝘂𝗯𝗲: youtube.com/c/Kasetsanjorn
𝗧𝗶𝗸𝗧𝗼𝗸: tiktok.com/@kasetsanjorn
𝗧𝘄𝗶𝘁𝘁𝗲𝗿: twitter.com/kasetsanjorn/
𝗪𝗲𝗯𝘀𝗶𝘁𝗲: kasetsanjorn.com