รวมเทคนิค “เลี้ยงหมูหลุม” อารมณ์ดี เลี้ยงง่าย โตไวขายได้ราคาดี สร้างรายได้เฉียดแสนต่อเดือน
คุณสุธี เริ่มจากการเป็นเกษตรกรแลกเปลี่ยนที่ประเทศญี่ปุ่น ใช้ระยะเวลา 11 เดือน และเริ่มต้นเลี้ยงหมูแบบหมูหลุมอารมณ์ดี
หมูหลุมอารมณ์ดีคืออะไร ?
“การเลี้ยงหมูหลุม” อารมณ์ดี คือการเลี้ยงอยู่ในคอกที่ไม่มีกลิ่น โดยการสร้างโรงเรือนแบบหลังคา มีช่องให้อากาศถ่ายเท แก๊สที่อยู่ในโรงเรือน จะลอยขึ้นไปข้างบนหลังคา ทำให้ไม่เกิดแก๊สสะสมอยู่ในโรงเรือน ซึ่งโรงเรือนแบบทั่วไปจะทำเป็นหลังคาทรงจั่วปกติ ไม่มีช่องระบายอากาศ ทำให้เกิดแก๊สสะสมอยู่ในโรงเรือนและส่งกลิ่น
วิธีการทำคอกหมูอารมณ์ดี
“วิธีการ ทำ คอกหมูหลุม” คุณสุธีจะสร้างโรงเรือนแบบหลังคามีความสูงสองระดับทำให้อากาศถ่ายเทสะดวก แก๊สที่อยู่ในโรงเรือนไหลขึ้นไปข้างบน และระบายออกตามช่องหลังคาด้านบน ด้านข้างโรงเรือน จะเน้นแบบสูงโปร่งทำให้อากาศถ่ายเทได้ดี การสร้างโรงเรือน ความสูงหลังคาด้านข้างสูงประมาณ 3 เมตร ความสูงหลังคาตรงกลางประมาณ 3.5 เมตร
การเริ่มต้นเลี้ยงหมูของคุณสุธี
การเริ่มต้นเลี้ยงหมู เริ่มจากการมีแม่พันธ์แท้ แล้วนำมาผสมเป็นหมูสองสายเลือด โดยนำหมูพันธุ์แลนด์เรซแท้ ไปผสมกับพันธุ์ลาร์จไวท์ เพื่อให้ได้ลูกหมูพันธุ์แลนด์เรซลาร์จไวท์ เมื่อได้แม่พันธุ์สองสายเลือด พันธุ์แลนด์เรซลาร์จไวท์ ก็จะนำมาผสมกับสายพันธุ์ดูร็อค เพื่อที่จะได้หมูขุนที่มีคุณภาพดี โตเร็ว เนื้อเยอะ ไขมันน้อย ซึ่งลูกหมูที่ออกมาจะเป็นสายพันธ์สามสายเลือด ที่คนนิยมรับประทาน
ระยะเวลาในการเลี้ยงหมูจนสามารถสร้างรายได้
ระยะเวลาโตของลูกหมูตั้งแต่คลอดจนขาย ลูกหมูจะใช้เวลาอยู่กับแม่ประมาณ 30 วัน และใช้เวลาขุนประมาณ 3-4 เดือน ก็จะได้หมูที่มีน้ำหนัก 90-110 กิโลกรัม ซึ่งขายกันที่ กิโลกรัมละ 100 บาท ขึ้นไป ซึ่งหมูน้ำหนัก 100 กิโลกรัมก็จะได้ราคาที่ตัวละ 10,000 บาท ขึ้นไป สิ่งสำคัญเลยก็คือ ต้องมีโรงเรือนที่สะอาด ให้หมูได้อยู่อย่างสะอาดและสบาย มีแกลบให้หมูได้ขุดคุ้ยทำให้ได้ออกกำลังกาย
ข้อดีของการเลี้ยงหมูหลุมอารมณ์ดี
พื้นที่คอกแม่พันธุ์ จะต้องมีพื้นที่ให้แม่พันธ์ได้เดิน โดยเราจะต้องขุดหลุมและใส่แกลบลงไปไว้ให้หมูได้นอนและขุดคุ้ย ความลึกของหลุมในคอกแม่พันธุ์ประมาณ 3 อิฐบล็อก กว้าง 2 เมตร ยาว 4 เมตร ซึ่งขนาดความลึกของหลุมนั้นก็แล้วแต่เจ้าของอีกทีว่าต้องการขนาดเท่าไหร่
ข้อดีของการเลี้ยงหมูหลุมคือสะดวก ดูแลง่าย เช็คสัดที่พร้อมจะผสมพันธุ์ง่าย หมูสุขภาพดี และช่วยลดต้นทุนในการทำวัคซีนเนื่องจากหมูมีการออกกำลังกายอยู่ตลอดเวลา “ข้อเสีย ของการเลี้ยงหมูหลุม” คือ ต้องขุดหลุมลงจากระดับพื้นดิน
ภายในหลุม “การเลี้ยงหมูหลุม แบบธรรมชาติ” ข้างล่างสุดจะเป็นดิน และเติมแกลบไว้ด้านบน ถ้าแกลบเริ่มยุบให้เติมแกลบเพิ่มเข้าไป และขี้หมูข้างล่างจะเริ่มกลายเป็นปุ๋ย เมื่อแม่หมูพร้อมที่จะคลอด สามารถนำขี้หมูไปขายเพิ่มมูลค่าได้อีกทางหนึ่ง
การให้อาหารหมู
การให้อาหารแม่พันธุ์ ช่วงยังไม่อุ้มท้องให้อาหารแม่หมู 2 กิโลกรัมต่อวัน ช่วงกลางของการตั้งท้องเพิ่มเป็น 2.5 กิโลกรัม และช่วง ท้ายของการตั้งครรภ์จะให้เพิ่มเป็น 4 กิโลกรัมต่อวัน เพื่อให้เพียงพอต่อลูกหมูที่อยู่ในท้อง และคลอดออกมาตัวใหญ่และได้หมูที่มีคุณภาพ การให้น้ำ จะเป็นการต่อท่อน้ำมาที่คอกและให้หมูได้ดูดกินเอง
ลักษณะการเลี้ยงหมูของคุณสุธี จะเป็นการเลี้ยงแบบใช้น้ำน้อย ไม่ต้องอาบน้ำ ถ้าหลุมหมูเริ่มแฉะจะมีการเพิ่มแกลบเข้าไป เพื่อที่หมูจะได้นอนได้สบาย ถ้าเรามีการอาบน้ำหมู จะเป็นการเพิ่มต้นทุนและทำให้เกิดมลภาวะทางกลิ่นด้วย
ข้อดีในการออกแบบ Walk Way
การทำทางเดินหมู หรือ Walk Way ทำให้ง่ายต่อการต้อนหมูออกมาชั่งน้ำหนักขายและต้อนหมูกลับเข้าคอก ที่ชั่งกิโลหมูคุณสุธีจะใช้ของที่ฟาร์มเอง เพราะที่ชั่งกิโลหมูของพ่อค้าจะมีการสะสมเชื้อโรคจากฟาร์มอื่น อาจทำให้หมูเสี่ยงติดโรคระบาดได้
โรคระบาดหมู ASF (African swine fever) ส่งผลอย่างไรต่อเราบ้าง ?
โรคระบาดที่เกิดกับหมูในปัจจุบันคือโรค ASF (African swine fever) สาเหตุคือ คนเลี้ยงหมูนำเศษอาหารของคนมาให้หมูกินจึงทำให้หมูเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด ซึ่งข้อนี้เป็นข้อห้ามสำคัญในการเลี้ยงหมู ถ้าหมูเกิดโรคระบาดแค่ 1 ตัวก็จะทำให้ลามไปทั้งคอกได้ ซึ่งถ้าเกิดการระบาดในฟาร์ม ก็จะทำให้ฟาร์มนั้นเลี้ยงหมูไม่ได้อีกเป็นระยะเวลานาน ดังนั้นการนำเศษอาหารของคนมาให้หมูจึงเป็นข้อห้ามที่ ห้ามทำเด็ดขาด!!
ข้อแตกต่างของหมูหลุมกับหมูขุนฟาร์มธรรมดา
พ่อค้าหมูกล่าวว่า สามชั้นของหมูหลุมจะมีความแตกต่างจากหมูธรรมดา ราคาจะสูงกว่าหมูธรรมดาและเนื้อหมูจะมีคุณภาพกว่า เนื่องจากหมูมีการออกกำลังกายตลอดเวลา ทำให้ในสามชั้นของหมูจะมีเนื้อแทรกมันและมีรสชาติดีกว่า พ่อค้าหมูจะเน้นซื้อหมูกับคุณสุธีเป็นขาประจำ เนื่องจากฟาร์มหมูหลุมของคุณสุธีเป็นหมูมีคุณภาพสูง และหากหมูมีราคาถูกพ่อค้าหมูจะช่วยเหลือราคาหมูกับที่ฟาร์ม และถ้าหมูราคาแพง ที่ฟาร์มก็จะช่วยเหลือพ่อค้า เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
เกษตรกรมือใหม่อยากเลี้ยงหมูหลุมอารมณ์ดี เริ่มต้นอย่างไร ?
วิธีการเริ่มต้นเลี้ยงสำหรับเกษตรกรมือใหม่ ให้เริ่มต้นจากการเลือกซื้อลูกหมูที่มีสุขภาพแข็งแรงมาเลี้ยง วิธีการเลือกซื้อลูกหมู คือ ลูกหมูต้องอ้วนท้วนสมบูรณ์แข็งแรง ต้องมีความกระตือรือร้น วิ่งไปมา ไม่อยู่เฉยๆ ไม่มีอาการไอ ไม่ผอมจนเห็นซี่โครงที่หลัง “ต้นทุนเลี้ยงหมู10ตัว” ประมาณ 26,000 บาท ลูกหมู 1 ตัว จะมีราคาประมาณ 2,600 บาท ต่อตัว โดยให้เริ่มต้นเลี้ยงอย่างน้อย ประมาณ 10 ตัว
การให้อาหารลูกหมูจะให้ตามช่วงน้ำหนักของหมู แรกเกิด ถึง 15 กิโลกรัม อาหารที่ให้ก็จะเป็นอาหารสำเร็จรูปที่มีขายทั่วไป การให้อาหารลูกหมูจะเป็นการให้แบบจำกัด โดยจะให้ใน 2 ช่วงเวลา 8 โมงเช้า และ 5 โมงเย็น การให้อาหารหมูจะไม่ให้มากเกินไป จะให้ตามศักยภาพการโตของหมู เนื่องจากหากให้มากเกินไปลูกหมูก็จะถ่ายออกมา ต้องรู้ว่าลูกหมูที่เราเลี้ยงโตได้วันละกี่กิโลและให้อาหารตรงตามปริมาณ
ลูกหมูน้ำหนัก15-20 กิโลกรัม จะเริ่มมีการเปลี่ยนอาหาร โดยจะเปลี่ยนเป็นอาหารที่มีโปรตีนน้อยลง แต่ให้ปริมาณเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนอาหารจะให้อาหารสูตรก่อนหน้าครึ่งตักและสูตรใหม่ครึ่งตัก จะไม่ให้สูตรใหม่ทั้งหมดเพราะหมูจะไวต่อการเปลี่ยนอาหารและค่อยๆ เพิ่มปริมาณอาหารสูตรใหม่มากขึ้นไปเรื่อยๆ
ลูกหมูน้ำหนัก 20-30 กิโลกรัมขึ้นไป จะเริ่มมีการเปลี่ยนอาหาร ก่อนเริ่มเปลี่ยนอาหารจะใช้สูตรเดิม โดยให้สูตรก่อนหน้าผสมกับสูตรใหม่ ไล่ตั้งแต่ 1 ตัก จนถึง 5 ตัก โดนสามารถกินอาหารได้ถึง 10 ตัก และเปลี่ยนเป็นอาหารสูตรใหม่
หมูน้ำหนัก 50-60 กิโลกรัม เริ่มเข้าสู่การเป็นหมูใหญ่ จะเริ่มมีการเปลี่ยนอาหารสูตรใหม่ และมีการเปลี่ยนตักเป็นขนาดที่ใหญ่ขึ้น โดยจะใช้สูตรเปลี่ยนอาหารสูตรเดิม
หมูไซส์ที่พร้อมขายน้ำหนักจะอยู่ที่ 90-110 กิโลกรัม เนื้อหมูที่น้ำหนักประมาณ 90 กิโลกรัม เนื้อหมูจะอร่อย หนังจะบาง ถ้าน้ำหนักหมูเกินไปที่ 110 กิโลกรัมหนังหมูจะหนาและคนรับประทานจะไม่อร่อย ส่วนใหญ่พ่อค้าหมูจะนิยมรับซื้อไซต์ 90-110 กิโลกรัม กำไรจากการขาย หมูควรอยู่ขั้นต่ำ ที่ 5,000 บาท ต่อตัวเป็นอย่างต่ำ
………………………………………
เกษตรสัญจร สื่อเกษตรยุคใหม่ แหล่งข้อมูลสาระที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
รวมเรื่องเด็ด เกษตรกูรู ศูนย์รวมความรู้และเทคนิคการทำเกษตร
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเกษตรเพิ่มเติมได้ที่ :
𝗙𝗮𝗰𝗲𝗯𝗼𝗼𝗸: เกษตรสัญจร
𝗟𝗜𝗡𝗘 𝗢𝗳𝗳𝗶𝗰𝗶𝗮𝗹: @kasetsanjorn
𝗕𝗹𝗼𝗰𝗸𝗱𝗶𝘁: blockdit.com/kasetsanjorn/
𝗬𝗼𝘂𝗧𝘂𝗯𝗲: youtube.com/c/Kasetsanjorn
𝗧𝗶𝗸𝗧𝗼𝗸: tiktok.com/@kasetsanjorn
𝗧𝘄𝗶𝘁𝘁𝗲𝗿: twitter.com/kasetsanjorn/
𝗪𝗲𝗯𝘀𝗶𝘁𝗲: kasetsanjorn.com