จากสถานการณ์การ แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งต่อเศรษฐกิจโลก การดำรงชีวิต รวมถึงความเชื่อมั่นในเรื่องของสินค้าบริโภค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ได้สั่งการทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ติดตามสถานการณ์การผลิตสินค้าและการบริหารสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้เพิ่มช่องทางการนำสินค้าเกษตรสู่ตลาด Online ให้มากขึ้น และเตรียมความพร้อมรองรับแรงงานคืนถิ่นสู่ภาคเกษตร (Labor migration)
สศก. เร่งดำเนินการประสาน กรมส่งเสริมการเกษตร ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ภาคการเกษตรแก่เกษตรกรและแรงงานผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ต้องกลับสู่ถิ่นฐาน โดยมีศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 882 ศูนย์ และศูนย์เครือข่ายอีกประมาณ 10,000 ศูนย์ เป็นแหล่งเรียนรู้ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาการเกษตรของชุมชน พร้อมทั้งการทำงานเชิงบูรณาการอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย รวมถึงฝ่ายความมั่นคง เพื่อช่วยกันกระจายสินค้าต่างๆ เช่น ผลไม้ภาคตะวันออกที่กำลังจะออกผลผลิต ตลอดจนบูรณาการร่วมกับสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า และหอการค้าจังหวัด เตรียมจุดกระจายสินค้าในแต่ละจังหวัด รวมถึงแต่ละอำเภอ ให้แก่พี่น้องเกษตรกรและประชาชน
ทั้งนี้ สศก. ยังได้เตรียมเสนอ โครงการแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นผืนดินเกษตรไทย ด้วยศาสตร์พระราชา เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ รวมถึงวิกฤตของโควิด-19 ในครั้งนี้ เพื่อเป็นทางรอดและสร้างภูมิคุ้มกันในสภาวะปัญหาเศรษฐกิจจากวิกฤตโรคร้ายโควิด-19 ครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องที่มีที่ดินทำกินอยู่แล้ว แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะทำการเกษตรรูปแบบใด ก็สามารถที่จะติดต่อไปยังสำนักงานเกษตรจังหวัด หรือเกษตรอำเภอในพื้นที่ เพื่อเข้าฝึกอบรมผ่านตามศูนย์เครือข่ายต่างๆ รวมถึงได้มีการขอความร่วมมือกับปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่ และเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ สศก. ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรแก่ผู้ได้รับผลกระทบรวมถึงแรงงานคืนถิ่นสามารถนำมาสร้างเป็นอาชีพเลี้ยงตนเอง และครอบครัว ขยายผลสู่การทำการ
เกษตรกรรมยั่งยืน สร้างรายได้อย่างพอเพียงด้วยศาสตร์พระราชา ดังนั้นจึงขอให้พี่น้องเกษตรกร และประชาชนมั่นใจว่าสถานการณ์ผลผลิตการเกษตรจะไม่เกิดปัญญาการขาดแคลนสินค้าในประเทศ และกระทรวงเกษตรฯ ก็ยังมีมาตรการรองรับเพื่อช่วยเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤตของโควิด-19 อย่างแน่นอน