สมาร์ทฟาร์มคืออะไร
สมาร์ทฟาร์ม หรือ เกษตรอัจฉริยะ เป็นรูปแบบการทำเกษตรแบบใหม่ที่จะทำให้ การทำไร่ทำนามีภูมิคุ้มกันต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการนำเอาข้อมูลของภูมิอากาศทั้งในระดับพื้นที่ย่อย (Microclimate) ระดับไร่ (Mesoclimate) และระดับมหภาค (Macroclimate) มาใช้ในการบริหารจัดการ ดูแลพื้นที่เพาะปลูก เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่เกิดขึ้น รวมถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
หลักการทำงานของสมาร์ทฟาร์ม
ระบบสมาร์ทฟาร์มจะบูรการข้อมูล Microclimate และ Mesoclimate จากเครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สาย (Wireless Sensor Networks) ที่ติดตั้งตามจุดต่างๆ ภายในไร่นา (ข้อมูล อุณหภูมิ ความชื้น ในดินและในอากาศ แสง ลม น้ำฝน) กับข้อมูลอุตุนิยมวิทยา Macroclimate (เรดาร์ ข้อมูลดาวเทียม โมเดลสภาพอากาศ) ที่มีอยู่บนอินเตอร์เน็ต และนำเสนอต่อเกษตรกร เจ้าของไร่ ผ่านทางเว็บไซต์ โดยจะมีการเก็บข้อมูลเป็นฐานข้อมูลของไร่ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ และ ดำเนินกิจกรรมต่างๆ การวางแผนการเพาะปลูก การให้น้ำ ให้ปุ๋ย และ ยา เป็นต้น
คุณได้อะไรจากสมาร์ทฟาร์มบ้าง?
ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดอากาศ และ สถานีตรวจวัดดิน ตามจุดต่างๆที่ถูกติดตั้งอยู่ภายในไร่จะถูกรวบรวมและส่งข้อมูลแบบไร้สาย มายังคอมพิวเตอร์ในบ้านของเจ้าของไร่ โดยสามารถติดตามข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ได้หลายช่องทาง ทั้งจากโปรแกรมแสดงผลบนคอมพิวเตอร์กลางภายในไร่ หรือดูข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตผ่านทางเว็บไซต์ก็สามารถทำได้ ทำให้เจ้าของไร่สามารถดูแลและจัดการไร่ของตัวเองได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม ไม่ว่าจะโดยการใช้คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือ สมาร์ทโฟน
การใช้งานในสถานที่จริง
ในปัจจุบันระบบสมาร์ทฟาร์มได้ถูกติดตั้งและใช้งานจริงกับไร่องุ่นกราน-มอนเต้ที่เขาใหญ่ และไร่มะเขือม่วงของบริษัท ชวี่ เฉวียน ฟูดส์ จำกัด ที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย โดยทั้งสองบริษัทได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ได้จากสถานีตรวจวัดอากาศและสถานีตรวจวัดดิน ในการวางแผนการทำการเกษตร
ขอบคุณข้อมูลดีดีจาก www.smartfarmthailand.com