เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) และคณะได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุม ห่วงโซ่คุณค่าที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforest-free Value Chains Roundtable) ซึ่งจัดโดยศูนย์การค้าระหว่างประเทศ (International Trade Centre) องค์การการค้าโลก WTO พร้อมประกาศวิสัยทัศน์ว่าประเทศไทยพร้อมเป็นผู้ส่งออกยางพาราชั้นนำของโลก ตามกฎระเบียบปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation Free Regulation : EUDR) ของสหภาพยุโรป
เวทีนี้นับว่าเป็นเวทีการประชุมระหว่างประเทศที่มีความสำคัญเนื่องจาก WTO ได้ริเริ่มโครงการห่วงโซ่คุณค่าที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่าโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่ในคณะกรรมการการค้าและสิ่งแวดล้อม (CTE) และระบุลำดับความสำคัญของประเทศในด้านการค้าและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมผ่านการวิจัยและการปรึกษาหารือที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ รวมถึงมาตรการด้านสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับการค้า เศรษฐกิจหมุนเวียน พลังงานทดแทน และห่วงโซ่มูลค่าที่ยั่งยืน
ดร.เลิก เลิศวังพง ได้ประกาศวิสัยทัศน์ของประเทศไทยในเวทีนี้ว่า การยางแห่งประเทศไทยมีความพร้อมอย่างมากในก้าวสู่ความเป็นผู้นำส่งออกยางพาราชั้นนำของโลกตามมาตรการ EUDR (EU Deforestation Free Regulation) ซึ่งเป็นกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการ ‘ตัดไม้ทำลายป่า’ ซึ่งสหภาพยุโรป กำหนดไว้ว่า สินค้าที่วางขาย นำเข้า หรือส่งออก “ต้องไม่สร้างความเสื่อมโทรม หรือทำลายป่าไม้ของโลก” โดยต้องตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้ว่า ‘อยู่พิกัดใด’ เป็นพื้นที่ป่าหรือไม่
EUDR ได้กำหนดสินค้าเกษตรที่ถูกควบคุมไว้ทั้งหมด 7 ชนิด ได้แก่ ยางพารา กาแฟ วัว โกโก้ ถั่วเหลือง ไม้ ปาล์มน้ำมัน ซึ่งกฎหมายดังกล่าวนี้ได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 และจะมีผลในทางปฏิบัติ ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2567 โดยมาตรการ EUDR ใช้กับผู้ประกอบการ (Operators) และผู้ค้า (Traders) ที่จะวางจำหน่ายสินค้าในตลาดอียู โดยสินค้าต้องผ่านเงื่อนไข 3 ข้อ คือ
- สินค้าต้องไม่มาจากการบุกรุกพื้นที่ป่า เป็นสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า การนำเข้ายางและผลิตภัณฑ์จากยาง จะต้องมาจากสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่ป่า และการจัดการสวนยางพาราที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม
- สินค้าต้องมีกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต
- ต้องมีการตรวจสอบและประเมินสินค้า (Due Diligence)
ดร. เพิกยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ Ready for EUDR in Thailand เพื่อตรวจสอบและประเมินสินค้าอย่างละเอียดให้เป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรฐาน EUDR มีมาตรการที่ครอบคลุมและการกำกับดูแลที่เข้มงวด ก่อนวางจำหน่ายหรือส่งออกสินค้า และมีการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลผลผลิตยางของสมาชิกแต่ละรายอย่างเป็นระบบ โดยใช้วิธีประมูลซื้อขายยางผ่านระบบดิจิทัล Thai Rubber Trade (TRT) ผ่านแพลตฟอร์มของ กยท. (https://trt.raot.co.th/) มีการลงทะเบียนทั้งผู้ซื้อและผู้ขายรวมถึงใช้เทคโนโลยี Block chain ในการทำธุรกรรมเพื่อเพิ่มความโปร่งใส โดยระบบดิจิทัล TRT จะแสดงรายละเอียดยางที่ซื้อขายอย่างชัดเจน สามารถตรวจสอบย้อนกลับที่มาของผลผลิตยางพาราได้ 100%
“เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ เราได้ริเริ่มโปรแกรม Ready for EUDR เพื่อให้แน่ใจว่าวัสดุยางทั้งหมดได้รับการประเมินและจัดหมวดหมู่อย่างละเอียดตามมาตรฐาน EUDR สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับการลงทะเบียนอย่างพิถีพิถันของชาวสวนยางพารา แปลงของพวกเขา และข้อมูลตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ลงในแพลตฟอร์มระดับชาติที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงได้ แนวทางของเราประกอบด้วยเกณฑ์ที่เข้มงวดในการประเมินและจัดการความเสี่ยงจากการตัดไม้ทำลายป่า กิจกรรมที่ผิดกฎหมาย และการละเมิดสิทธิมนุษยชน”
นอกจากนี้ กยท. ยังทุ่มเทเพื่อสนับสนุนทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการอีกด้วย โดยการจัดหาทรัพยากรและความช่วยเหลือเพื่อให้สามารถผลิตยางที่ได้มาตรฐาน EUDR รวมถึงการส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนผ่านการรับรอง เช่น FSC และ PEFC การดำเนินการทดลองเครดิตคาร์บอน และการพัฒนาโมเดลวนเกษตรที่ก้าวหน้า และริเริ่มโครงการโฉนดต้นยางพาราเพื่อส่งเสริมการใช้ที่ดินตามกฎหมายและเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับ
กทย. มั่นใจว่าประเทศไทยพร้อมที่จะเป็นผู้นำตลาดโลกด้วยยางมาตรฐาน EUDR ภายใต้มาตรการที่ครอบคลุมและการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดของ กยท. “เรามุ่งมั่นที่จะพิสูจน์ว่าการผลิตยางของเราปราศจากการตัดไม้ทำลายป่าอย่างแท้จริง เป้าหมายของเราไม่ใช่เพียงการปฏิบัติตามกฎระเบียบ แต่ยังกำหนดเกณฑ์มาตรฐานในฐานะผู้ส่งออกยางคุณภาพสูงและมาจากแหล่งที่ยั่งยืน” ดร.เพิก กล่าว
……………………………………
เกษตรสัญจร สื่อเกษตรยุคใหม่ แหล่งข้อมูลสาระที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
รวมเรื่องเด็ด เกษตรกูรู ศูนย์รวมความรู้และเทคนิคการทำเกษตร
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเกษตรเพิ่มเติมได้ที่ :
𝗙𝗮𝗰𝗲𝗯𝗼𝗼𝗸: เกษตรสัญจร
𝗟𝗜𝗡𝗘 𝗢𝗳𝗳𝗶𝗰𝗶𝗮𝗹: @kasetsanjorn
𝗕𝗹𝗼𝗰𝗸𝗱𝗶𝘁: blockdit.com/kasetsanjorn/
𝗬𝗼𝘂𝗧𝘂𝗯𝗲: youtube.com/c/Kasetsanjorn
𝗧𝗶𝗸𝗧𝗼𝗸: tiktok.com/@kasetsanjorn
𝗧𝘄𝗶𝘁𝘁𝗲𝗿: twitter.com/kasetsanjorn/
𝗪𝗲𝗯𝘀𝗶𝘁𝗲: kasetsanjorn.com