“ถึงแม้เราจะเป็นแค่เกษตรกรคนนึง แต่เราก็ภูมิใจที่ได้สร้างผลผลิตที่มีประโยชน์จริงๆให้สู่ผู้บริโภค น้ำอ้อยที่มาจากเราจะเป็นอ้อยอินทรีย์ที่ไร้สารเคมีจริง ๆ บนพื้นที่เล็ก ๆ เพียง 1 ไร่ สร้างความสุขให้ทั้งตัวเราเองที่เป็นคนปลูก และผู้บริโภคที่ได้ของเราไปทานก็จะมีสุขภาพที่ดี” นี้คือทัศนคติของคุณ มาติกา ศรีวรรณะ หรือพี่หน่อย เกษตรผู้พลิกชีวิตตนเอง บนพื้นที่เล็ก ๆ ที่บ้านเกิดจังหวัดกำแพงเพชร โดยเลือกที่จะปลูกอ้อยอินทรีย์แท้ 100 % เป็นจุดขายที่สร้างความแตกต่าง
จากในอดีต เคยเป็นแม้ค้าขายข้าวหลามหน้าเรือนจำสมุทรปราการ เศรษฐกิจไม่ดีทำให้ขายไม่ได้ เลยอยากกลับมาอยู่ที่บ้านเกิดที่กำแพงเพชร และได้ไปศึกษาที่ พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิพิธภัณฑ์การเกษตร ที่เผยพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนาอย่างแท้จริง เพื่อจะเอาความรู้กลับไปทำเกษตรที่บ้านเกิด ไปศึกษาเรื่อง “เกษตรตามรอยเท้าพ่อ 1 ไร่ 1 แสน”
หลังจากนั้นเลยได้รับแรงบันดาลใจจากประโยคที่อาจารย์คนหนึ่งว่า “วิชาปลดหนี้ คือวิชาอ้อยคั้นน้ำ” เลยนึกถึงไร่อ้อยที่คุณตาเคยทำ เลยตั้งใจศึกษา ค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องการปลูกอ้อยแบบอินทรีย์ เพราะว่า แตกต่างยังไม่ค่อยมีคนปลูก อีกทั้งยังสามารถสร้างประโยชน์ต่อสุขภาพคนที่ซื้อไปทาน และที่สำคัญ การปลูกอ้อยอินทรีย์นั้นเหมาะกับตนเอง เพราะว่า อ้อยอินทรีย์ไม่ต้องดูแลรดน้ำ ใส่ปุ๋ย ทุกวัน ตนเองจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะว่า ต้องเป็นเกษตรกรที่ปลูกด้วย และไปหาตลาดในการขายผลผลิตเองด้วยหลังจากนั้นกลับมาทดลองปลูกอ้อยในพื้นที่บ้านเกิดของตนเอง โดยทำในพื้นที่เล็ก ๆ เพียง 1 ไร่ โดยปลูกอ้อยทั้งหมด 800 ต้น
ขั้นตอนวิธีลงมือทำจริง ทำอย่างไร
การปลูกอ้อยอินทรีย์มีส่วนสำคัญทั้งหมด 4 ส่วนคือ
- การเตรียมดิน คือการเตรียมดินก่อนปลูกท่อนพันธุ์อ้อย
วิธีการเตรียมดินต้องใช้วัตถุดิบดังนี้
- เตรียมปุ๋ยพืชสด (ผักตบชวา + หญ้าเนเปียร์+มะรุม) หมักรวมกัน 15 วัน
- ขุดหลุม ลึก 50 กว้าง 50 เมตร
- ใช้มูลสัตว์รองที่ก้นหลุม
- ใส่ปุ๋ยพืชสดที่เตรียมไว้ 1 กิโลกรัม
- จากนั้นใช้ดินกลบ แล้วราดน้ำจุลินทรีย์
- กลบหน้าดินด้วยฟาง ทิ้งไว้ 15 วัน พร้อมจะปลูกท่อนพันธุ์อ้อยได้
- บ่อพักน้ำ ต้องมีบ่อพักน้ำเพราะว่าพืชที่อื่นที่ทำการเกษตรทำเกษตรแบบสารเคมี ทำให้น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติมีสารเคมี ดังนั้นจึงต้องมีบ่อพักน้ำ เพื่อขจัดสารเคมีตกค้างในน้ำที่จะใช้ในการเพราะปลูกอ้อย มีตัวช่วยคือ
- การใส่ก้อนจุลินทรีย์ในบ่อพักน้ำ
- การปล่อยผักตบชวาลงไปในบ่อพักน้ำ เพราะผักตบชวาสามารถช่วยบำบัดน้ำเสีย
- แนวกันชนสารเคมี เพราะพื้นที่รอบทำเกษตรแบบสารเคมี เลยต้องทำแนวกันชนสารเคมี เพื่อไม่ให้สารเคมีปนเปื้อนมาในดิน วิธีการคือ เว้นพื้นที่รอบไร่ 6-4 เมตร จากนั้นปลูกพืช 4 ระดับได้แก่
- หญ้าฝาก
- หญ้าเนเปียร์
- กล้วย และ มะรุม
- พืชยืนต้น
ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นเคล็ดลับที่สำคัญที่สุดที่จะประสบความสำเร็จในการปลูกอ้อยอินทรีย์
ส่วนผสมในการทำปุ๋ยอินทรีย์มีดังนี้
- ปุ๋ยพืชสด 30 กิโลกรัม (ผักตบชวา + หญ้าเนเปียร์+มะรุม หมักรวมกัน 15 วัน)
- มูลสัตว์ 30 กิโลกรัม
- ผิวหน้าดินที่จะใช้เพราะปลูก 20 กิโลกรัม
- รำอ่อน(อาหารจุลินทรีย์) 20 กิโลกรัม
- ปุ๋ยน้ำหมัก (ทั่วไป) 20 ลิตร
คลุกส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน คลุมผ้าทิ้งไว้ 15 วันก็สามารถใช้เป็นปุ๋ยได้
วิธีการปลูกอ้อยเหมือนกับการปลูกอ้อยทั่วไป การดูแลไม่ต้องดูแลมาก เพราะว่าเตรียมดินไว้แล้วในดินมีสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของพืช ใส่ปุ๋ยบำรุงทุก ๆ 15 วัน
ประสบความสำเร็จในการปลูกอ้อยที่ถึงแม้จะมีปริมาณน้อยแต่เน้นที่คุณภาพเพราะได้อ้อยที่มีลำต้นค่อนข้างใหญ่ โดยอัตราเฉลี่ย 1 ต้น มี 1 กอ 1กอมี 20 ลำ 1 ลำ หนัก 3 กิโลกรัม ซึ่งเคล็ดลับการปลูกอ้อยที่ได้ลำต้นใหญ่มาจากการปลูกแบบอินทรีย์ 100 % และมีการเตรียมดิน ก่อนปลูก
ช่องทางการขาย
รายได้หลักมาจากการขายที่หน้าสำนักงานเกษตร จังหวัดกำแพงเพชร และได้ขายพื้นที่หน้าห้าง Big C จังหวัด กำแพงเพชร นำอ้อยที่ปลูกเก็บเกี่ยวมาผลิตเป็นน้ำอ้อยคั้นน้ำขาย โดยอ้อย 1 ลำ จะคั้นน้ำอ้อยได้ประมาณ 1.40 ลิตร นำมาบรรจุขวดขนาด 250 ซีซี ได้ประมาณ 5.5 ขวด จำหน่ายขวดละ 20 บาท ได้เงิน 110 บาทต่ออ้อย 1 ลำ อ้อยในพื้นที่ 1 ไร่ เมื่อตัดเอามาทำน้ำอ้อยจะมีรายได้มากถึง 1,760,000 บาท โดยจะมีรายได้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 20,000-30,000 บาท จากการทยอยตัดอ้อยมาทำน้ำอ้อยคั้นจำหน่าย รายได้ เสริมมาจากการขายทางเพจ แต่ว่ายังเป็นส่วนน้อย เพราะติดปัญหาเรื่องการขนส่ง
ผลที่เกิดขึ้นและความภาคภูมิใจ
ภาคภูมิใจที่สามารถสร้างผลผลิตที่ดีต่อสุขภาพผู้บริโภค ได้กลับมาอยู่ที่บ้านเกิดแม้วส่าจะทำบนพื้นที่เล็ก ๆ แต่สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคง สามารถส่งต่อความรู้สู่ชุมชน เป็นต้นแบบของการปลูกเกษตรอินทรีย์ไม่พึ่งพิงสารเคมี
“การทำเกษตร นั้นควรที่จะเป็นเกษตรอินทรีย์ เพราะการทำเกษตรอินทรีย์นั้นเป็นการคืนสมดุลให้กับธรรมชาติ เป็นการรับผิดชอบต่อธรรมชาติ”
เรียบเรียงโดยทีมงานเกษตรสัญจร