อาร์ม เจ้าของสวนผักเคล A Family Farm ที่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ปัจจุบันอายุ 33 ปี เริ่มต้นทำเกษตรมาแล้ว 4 ปี
ก่อนทำเกษตรเริ่มต้นทำอะไรมาก่อน ?
ก่อนที่อาร์มจะมาทำเกษตรเต็มตัวได้เป็นเซลล์ขายรถยนต์มาก่อน แต่เนื่องจากต้องเดินทางไกลไปทำงาน จึงเริ่มต้นหันมาทำเกษตรโดยเริ่มปลูกผักกินเอง จากพื้นที่ 1 ไร่ จึงนำพื้นที่มาทำเกษตรด้วยการปลูกผักเคลจำนวน 8 แปลงสาเหตุที่ตัดสินใจลาออกจากงานเพราะเริ่มรู้สึกเบื่องานประจำและอยากจะพักเพื่อที่จะไปทำงานอืนต่อ แต่ยังมีหนี้บัตรเครดิตเหลืออยู่จึงใช้เงินหลังจากลาออกจากงานให้ประหยัดมากที่สุด โดยการเริ่มต้นปลูกผักไว้กินเองเพื่อให้มีรายจ่ายน้อยที่สุด แต่พอทำไปทำมามีคนเข้ามาขอซื้อเรื่อย ๆ จึงเริ่มกลายเป็นรายได้
เริ่มทำเกษตรด้วยการปลูกผักอะไร ?
ในช่วงเริ่มต้นได้ลองปลูกผักสลัดซึ่งเป็นผักที่ปลูกง่ายสำหรับมือใหม่ และจากนั้นจึงปลูกเคลและมะเดื่อฝรั่ง โดยนำความรู้มาจากยูทูปและกูเกิลมาทดลองเอง จนประสบความสำเร็จ โดยเริ่มต้นจากทุนหลักหมื่น จนปันจุบันประสบความสำเร็จ มีสาขาในห้างมากถึง 6 สาขา และเปิดคาเฟ่ A Family Farm เป็นร้านผักเพื่อสุขภาพ สร้างรายได้ให้กับทั้งตัวเองและคนในครอบครัว โดยครั้งแรกที่เริ่มต้นปลูกผักมีเงินทุนอยู่แค่ 10,000-20,000 บาท ปลูกผักแค่ 8 แปลง ซึ่งหลังจากปลูกได้มีลูกค้าที่ทำร้านสลัดมาเห็นและขอซื้อทั้งหมด จึงเริ่มรู้ว่าผักเคลสามารถขายได้ และเริ่มนำต้นเคลไปขายในโซเชียลจนได้เงินมาขยายฟาร์มเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน
ทำไมถึงเลือกปลูกผักเคลแบบอินทรีย์ ?
ในตอนแรกเป็นคนที่ชอบไม้ดอกไม้ประดับ แต่มีญาติทักว่าไม้ดอกไม้ประดับที่ปลูกไม่สามารถกินได้ทำให้เสียเวลาในการปลูกจึงเริ่มหาผักที่สวยมาปลูกแทนเช่น ปูเล่ และผักเคล ซึ่งผักเคลเป็นผักที่สวยและมีประโยชน์และในตอนนั้นมีคนปลูกน้อยมากจึงตัดสินใจนำเข้าเมล็ดแบบออร์แกนิคมาปลูก โดยการปลูกผักเคลแบบอินทรีย์เป็นอะไรที่ท้าทาย หากเราจะปลูกแบบใช้เคมีจะสามารถทำได้ง่ายๆ แต่เราจะไม่มีความสบายใจทั้งต่อตนเองและผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพ
ตอนเริ่มต้นปลูกเคลมีปัญหาอะไรบ้าง ?
ในช่วงที่ปลูกผักเคลครั้งแรกแทบไม่มีความรู้อะไรเลย ทั้งเรื่องของการรดน้ำ การเพาะเมล็ดซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการปลูกเคล โดยเลือกใช้เมล็ดแบบออร์แกนิคและนำเมล็ดมาหยอดลงหลุมแต่ละหลุม ซึ่งมีช่วงที่ปลูกเคลแล้วมีแมลงมารบกวนเยอะ ๆ จะทำให้ต้นไม่สวย อาจจะมีท้อบ้าง แต่ยังไม่คิดที่จะเลิกปลูกเคล แมลงที่เป็นศัตรูของเคลมีทั้งหนอนและเพลี้ย และมีโรคประจำตัวคือโรคใบไหม้ เชื้อรา และรากเน่าโคนเน่า โดยทั้งสวนจะใช้เชื้อราไตรโครเดอร์ซึ่งเป็นเชื้อราดี ช่วยป้องกันและรักษาเชื้อราโดยช่วงที่ระบาดหนักจะพ่นวันเว้นวัน และใช้บิวเวอร์เรียกับเมตาไรเซียมในการป้องกันแมลงผสมกันและฉีดพ่นเพื่อป้องกันแมลงบุกสวน และหากเจอใบที่เป็นโรคหรือเป็นเชื้อราจะรีบกำจัดออกจากบริเวณสวนทันทีเพื่อป้องกันการลุกลามไปยังต้นอื่น ๆ
เทคนิคการเพาะเมล็ดต้นเคลให้รอด
การปลูกผักเคลจะใช้เวลาเพาะต้นกล้าประมาณ 1 เดือน โดยวัสดุที่ใช้เพาะจะเป็นพีทมอสจะทำให้มีอัตราการงอกที่ดี การเพาะเมล็ดควรเพาะในที่ร่ม หลังจากเมล็ดงอกมีใบขึ้นประมาณ 2 ใบ ควรย้ายลงถาดหลุมหลุมละ 1 ต้น จนเริ่มมีใบที่มีสีเขียวเข้มจึงนำไปตากแดดทันที โดยในช่วงแรกที่ฟาร์มเคยพลาดตั้งแต่การเพาะต้นกล้า เพราะไม่รู้ว่าหลังจากโรยเมล็ดไปแล้วต้นอ่อนงอกเท่านี้ต้องนำตากแดดทันที เพราะคนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าหลังจากโรยเมล็ดและต้นเคลงอกออกมาห้ามโดนแดดแรงจะทำให้ตาย แต่ในความเป็นจริงควรนำวางในบริเวณที่่มีแดดจัด 100 เปอร์เซนต์และคอยรดน้ำตลอด แต่ต้องคอยระวังไม่ให้โดนฝน หากมีโรงเรือนควรนำต้นกล้าไปไว้ในโรงเรือนและอย่าลืมรดน้ำเป็นประจำวันละ 2 ครั้ง เมื่อครบ 20 วัน ค่อยย้ายไปลงกระถางโดยใช้ดินผสมขุยมะพร้าวหรือปุ๋ยคอก ปลูกต่อจนครบ 15-20 วันจึงย้ายไปลงแปลงปลูก
การย้ายต้นเคลลงแปลงปลูก
ที่ฟาร์มจะทำแปลงปลูกต้นเคลแบบยกสูงเพื่อให้สะดวกต่อการทำงาน ทั้งการจัดการวัชพืชและให้ถูกต้องตามหลักการปลูกพืชแบบออร์แกนิค โดยใช้เป็นเหล็กกัววาไนท์ประกอบขึ้นมา มีความกว้างประมาณ 1X3 เมตร และใช้กระเบื้องปูด้านล้างพร้อมกับคลุมด้วยแสลนเพื่อใส่ดิน โดยเว้นระยะการปลูกต้นกล้าที่ 20 เซนติเมตรต่อต้น เว้นเป็นแถวละ 3 กับ 4 ต้น สลับกัน เพื่อให้ต้นเคลไม่แย่งอาหารกันและป้องกันต้นยืด เมื่อครบ 1 เดือนครึ่ง – 2 เดือน จะสามารถตัดใบไปกินได้เลย แต่ระหว่างนั้นจะใส่ปุ๋ยทุกๆ 10 วัน โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์แบบผง และทุก ๆ 15 วันจะใช้น้ำหมักเพื่อบำรุง และรดน้ำ 10 โมงกับ บ่ายสอง เพื่อเป็นการล้างใบจากน้ำค้างที่มาเกาะในตอนเช้าเป็นการลดการเกิดโรค การตัดใบจะเริ่มตัดจากใบล้างขึ้นไป และในช่วงที่อากาศร้อนจัดจะมีการสเปรย์น้ำตลอดเวลา ส่วนในช่วงหน้าหนาวที่อากาศค่อนข้างเย็นแทบจะไม่ต้องทำอะไร เพราะเป็นช่วงที่ต้นเคลชอบมาก แต่ในหน้าฝนเป็นช่วงที่ต้องคอยระวัง เพราะจะทำให้เกิดโรคพืชและเชื้อราได้ง่ายมาก ซึ่งต้นเคลหากมีการดูแลและบำรุงรักษาที่ดีสามารถมีอายุนานถึง 1 ปี
ครั้งแรกที่มีคนมาขอซื้อเคลรู้สึกยังไงบ้าง ?
ในครั้งแรกที่มีคนมาขอซื้อยังขายไม่ถูกเพราะยังไม่รู้ราคา โดยขายครั้งแรกที่ราคาประมาณ 120 บาท ซึ่งราคาผักเคลออร์แกนิคสามารถขายได้ถึงกิโลกรัมละ 300-500 บาท จึงมองเห็นช่องทางและเริ่มขยายฟาร์มขึ้นเรื่อย ๆ และมีคนแนะนำให้นำไปขายตามห้างจนปัจจุบันมีจำหน่ายมากถึง 6 สาขา โดยได้ชวนน้องชายลาออกจากงานเข้ามาทำฟาร์มผักเต็มตัวและเปิดคาเฟ่ A Family Farm
การปลูกผักอินทรีย์ส่งห้างมีการตรวจสอบยังไงบ้าง ?
หากมีการปลูกผักส่งห้างแบบอินทรีย์จะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจมาตรฐานที่ฟาร์มและตรวจใบรับรอง และเช็คว่าเราปลูกเองจริงมั้ย เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดกับผู้บริโภค โดยปัจจุบันผักเคลในกรุงเทพฯ ราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 300-500 บาท แต่ถ้าต่างจังหวัดจะมีหลายราคาตั้งแต่ 100 บาท ขึ้นไป โดยภาคเหนือค่อนข้างทีจะปลูกเยอะแต่ติดปัญหาเรื่องการขนส่งที่ต้องใช้ระยะเวลา
จากเริ่มต้นปลูกผักเคลครั้งแรกจนถึงปัจจุบันรู้สึกยังไงบ้าง ?
รู้สึกภูมิใจที่สามารทำให้ตัวเองและคนในครอบครัวมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้สบาย และสามารถทำให้คนในครอบครัวสามารถทำงานด้วยกันได้โดยที่ไม่ต้องแยกออกไปทำงานทุกวัน ซึ่งปัจจุบันในตอนเช้าจะตื่นมาดูแลผักและดูแลพนักงานเพื่อตัดผักส่งห้างเป็นหลักและน้องชายจะคอยเข้ามาดูแลผักเคลที่จะนำไปเติมในร้าน A Family Farm ซึ่งเป็นคาเฟ่ที่นำมาต่อยอดจากจากการปลูกผักเคล โดยมีทั้งอาหารและสมูทตี้เพื่อสุขภาพ
ฝากถึงเกษตรกรที่อยากทำเกษตร
การทำเกษตรต้องอาศัยความอดทนเป็นหลัก ในการทำช่องทางการขายเทคนิคของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ถ้าเราปลูกไปแล้วแต่ไม่รู้จะขายใครก็ไม่รู้จะทำไปทำไม ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ การทำเกษตรต้องทำด้วยความอดทนและความชอบ ในช่วงแรกที่เริ่มต้นปลูกอาจจะยังไม่สามารถขายได้เป็นกอบเป็นกำแต่ถ้าเรามีความอดทนพอและทำให้ผักสวยจะมีคนสนใจและลูกค้าจะตามมาเอง
หากสนใจผักเคลจาก A Family Farm สามารถติดต่อได้ที่
หมายเลข : 082-055-3265
Facebook : A Family Farm
………………………………………
เกษตรสัญจร สื่อเกษตรยุคใหม่ แหล่งข้อมูลสาระที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
รวมเรื่องเด็ด เกษตรกูรู ศูนย์รวมความรู้และเทคนิคการทำเกษตร
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเกษตรเพิ่มเติมได้ที่ :
𝗙𝗮𝗰𝗲𝗯𝗼𝗼𝗸: เกษตรสัญจร
𝗬𝗼𝘂𝗧𝘂𝗯𝗲: youtube.com/c/Kasetsanjorn
𝗧𝗶𝗸𝗧𝗼𝗸: tiktok.com/@kasetsanjorn
𝗦𝗵𝗼𝗽𝗲𝗲: shopee.co.th/kasetsanjorn
𝗟𝗜𝗡𝗘 𝗢𝗳𝗳𝗶𝗰𝗶𝗮𝗹: @kasetsanjorn
𝗕𝗹𝗼𝗰𝗸𝗱𝗶𝘁: blockdit.com/kasetsanjorn/
𝗧𝘄𝗶𝘁𝘁𝗲𝗿: twitter.com/kasetsanjorn/
𝗪𝗲𝗯𝘀𝗶𝘁𝗲: kasetsanjorn.com