กลุ่มนวัตกรรมช่างชุมชน บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน), สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (องค์การมหาชน), โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, และสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม ได้จัดงานแสดงผลงานและมอบทุนสนับสนุนสุดยอดนวัตกรรมช่างชุมชนเป็นปีที่ 4


ในงานนี้ มีการนำเสนอ 12 นวัตกรรมเพื่อชุมชนที่น่าสนใจ รวมถึงนวัตกรรมทางการเกษตร เช่น เครื่องปอกมะพร้าวกึ่งอัตโนมัติ, กว้านดึงอวน, เครื่องอบถ่านจากเศษวัสดุทางการเกษตรแบบมือหมุน, และระบบตรวจจับและไล่นกด้วย AI + IoT


คุณนาวี นาควัชระ ผู้ประสานงานโครงการ กล่าวว่า “จุดประสงค์ของงานคือการนำเสนอนวัตกรรมที่ช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่ชุมชน การพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้ชุมชนสามารถตอบโจทย์ปัญหาท้องถิ่นได้ดีขึ้น”
นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงการพัฒนาฝีมือของช่างการเกษตรที่มีความก้าวหน้า ทำให้สามารถขยายผลไปยังชุมชนอื่น ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ ซึ่งช่วยพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรให้กลายเป็นผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ


นายวีระพงษ์ กังวานนวกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างเครือข่าย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า “นวัตกรรมจากชุมชนที่เกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้านสามารถเป็นประโยชน์ต่อสังคม และควรได้รับการเผยแพร่เพื่อให้เกิดคุณค่าต่อส่วนรวม”
ภายในงานมีการแสดงตัวอย่างนวัตกรรมที่น่าสนใจในภาคการเกษตร ได้แก่


เครื่องปอกมะพร้าวกึ่งอัตโนมัติ โดยคุณชัยวัฒน์ สวัสดิวรนันท์ จากราชบุรีจากราชบุรี ได้พัฒนาเครื่องปอกมะพร้าวกึ่งอัตโนมัติที่ใช้งานง่ายและมีประสิทธิภาพสูง หลังจากใช้เวลาประมาณ 2 ปีในการพัฒนาและทดสอบ เขาสร้างเครื่องต้นแบบและทดลองปอกมะพร้าวในโรงงานญาติ โดยมุ่งเน้นให้เครื่องตอบโจทย์มะพร้าวน้ำหอมบ้านเรา ที่มักมีลักษณะสามจีบ ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหามะพร้าวเด้งออกและการทำงานของเครื่องไม่ปกติ
ในการพัฒนาเครื่องนี้ คุณชัยวัฒน์ได้ทำการปรับปรุงการใช้งานด้วยการเพิ่มฟังก์ชันเลือกขนาดและรูปแบบการปอกถึง 4 แบบ อีกทั้งยังใส่ระบบนับจำนวนผลที่ปอกได้ทันทีผ่านเครื่อง ช่วยเพิ่มความสะดวกในการตรวจสอบจำนวนมะพร้าวที่ปอก ทำให้เครื่องนี้ตอบโจทย์ทั้งในด้านการใช้งานและความสะดวกในการนับจำนวน


คุณกฤษดา ศรีทอง จากชุมชนประมงพื้นบ้านตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้พัฒนา นวัตกรรมกว้านดึงอวน ที่ช่วยลดแรงงานและเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน โดยหลักการทำงานคือการป้อนคร่าวกระสง (เชือกที่ติดกับกะสุงที่ลอยน้ำ) เข้าไปในเครื่องกว้าน เครื่องจะหนีบเชือกจากด้านล่างขึ้นไปด้านบน และปล่อยเชือกอัตโนมัติเมื่อถึงด้านหลัง
นวัตกรรมนี้ช่วยลดภาระและแรงงานของชาวประมงในการดึงอวน อีกทั้งยังคำนึงถึงต้นทุนของผู้ใช้


คุณอำพล เทียนทองคำ ประธานวิสาหกิจชุมชนถ่านรักโลก อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ได้พัฒนา เครื่องอบถ่านจากวัสดุการเกษตรแบบมือหมุน ที่ใช้เผาวัสดุการเกษตรต่างๆ เช่น ใบอ้อย ต้นมันสำปะหลัง ฟางข้าว ใบตะไคร้ และวัชพืช โดยนำวัสดุเข้าเครื่องจนเต็ม ปิดฝาให้เป็นสุญญากาศ จุดไฟด้านล่างเพื่อทำให้วัสดุถูกคั่วและอบ จากนั้นนำไปอบและอัดเป็นถ่านอัดแท่งเพื่อจำหน่ายในชุมชนและกลุ่มสมาชิกของวิสาหกิจ สร้างรายได้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน
คุณอำพลยังมุ่งขยายความรู้ให้ชุมชนต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักว่า “ถ้าธรรมชาติอยู่ได้ มนุษย์และสัตว์ก็จะอยู่ได้” ซึ่งหากแต่ละอำเภอมีจุดผลิตถ่านเช่นนี้ ก็จะช่วยลดมลพิษได้
หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมหรือเข้าร่วมโครงการช่างชุมชน ช.การช่างในปีถัดไป สามารถติดตามได้ทาง Facebook เพจ ช่างชุมชน ช.การช่าง ได้เลยครับ
………………………………………
เกษตรสัญจร สื่อเกษตรยุคใหม่ แหล่งข้อมูลสาระที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
รวมเรื่องเด็ด เกษตรกูรู ศูนย์รวมความรู้และเทคนิคการทำเกษตร
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเกษตรเพิ่มเติมได้ที่ :
𝗙𝗮𝗰𝗲𝗯𝗼𝗼𝗸: เกษตรสัญจร
𝗬𝗼𝘂𝗧𝘂𝗯𝗲: youtube.com/c/Kasetsanjorn
𝗧𝗶𝗸𝗧𝗼𝗸: tiktok.com/@kasetsanjorn
𝗦𝗵𝗼𝗽𝗲𝗲: shopee.co.th/kasetsanjorn
𝗟𝗜𝗡𝗘 𝗢𝗳𝗳𝗶𝗰𝗶𝗮𝗹: @kasetsanjorn
𝗕𝗹𝗼𝗰𝗸𝗱𝗶𝘁: blockdit.com/kasetsanjorn/
𝗧𝘄𝗶𝘁𝘁𝗲𝗿: twitter.com/kasetsanjorn/
𝗪𝗲𝗯𝘀𝗶𝘁𝗲: kasetsanjorn.com