เชื้อราไตรโคเดอร์มา เป็นเชื้อราชั้นสูงเจริญได้ดีในดินที่มีเศษซากพืช ซากของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ และวัสดุอินทรีย์ตามธรรมชาติ เชื้อราไตรโคเดอร์มา สามารถควบคุมโรคพืชในดินได้หลายชนิด เช่น
เชื้อราไฟทอฟเทอรา (Phytophthora spp.) สาเหตุโรครากโคนเเน่า
เชื้อราพิเทียม (Pythium spp.) สาเหตุโรคเมล็ดเน่า โรคโคนเน่าระดับดิน
เชื้อราฟิวซาเรียม (Fusarium spp.) สาเหตุโรคโรคเหี่ยว
เชื้อราสเคลอโรเทียม (Sclerotium spp.) สาเหตุของโรคโคนเน่า โรคเหี่ยวของผัก
เชื้อราไรซ็อกโทเนีย (Rhizoctonia solani) สาเหตุโรคเน่าระดับดินของพืชผัก โรคใบติดของทุเรียน โรคกาบใบแห้งของข้าว
วัสดุอุปกรณ์
- หม้อหุงข้าวไฟฟ้า
- ข้าวสาร
- น้ำสะอาด
- ยางวง
- เข็มหมุด
- หัวเชื้อราไตรโคเดอร์มา
- ถุงพลาสติกทนร้อนขนาด 8 x 12 นิ้ว
- ตะเกียงแอลกอฮอล์
- แอลกอฮอล์ 70%
วิธีการผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา
- หุงข้าวใช้ข้าวสาร 3 ส่วน และน้ำ 2 ส่วน กดสวิตซ์ จากนั้นเมื่อหม้อข้าวดีดให้ถอดปลั๊กทันที จะได้ข้าวกึ่งสุกกึ่งดิบ ลักษณะเมล็ดข้าวข้างนอกเมล็ดปริ ส่วนข้างในเป็นไตสีขาว ซุยข้าวให้เมล็ดข้าวร่วน หรือใช้ลังถึงนึ่ง โดยการแช่ข้าว 30 นาที และผึ่งข้าว 30 นาที จากนั้นนึ่งโดยนับจากหลังน้ำเดือนไม่น้อยกว่า 30 นาที
- ตักข้าวใส่ถุง ขณะยังร้อน ถุงละ ½ กิโลกรัมพับปากถุงลงด้านล่าง ทิ้งไว้ให้ข้าวอุ่น
- ใส่หัวเชื้อไตรโคเดอร์มา หากเป็นหัวเชื้อน้ำ ใช้ประมาณ 5 หยด หรือเป็นหัวเชื้อแห้ง ใช้ 4 – 5 เหยาะ
- รัดยางตรงปากถุงให้แน่นโดยให้มีพื้นที่ว่างในถุงมากกว่าพื้นที่ใส่ข้าว
- เขย่าหัวเชื้อให้กระจายทั่วเมล็ดข้าว
- เจาะรูใต้ยางที่มัดถุง โดยใช้เข็มสะอาดเจาะประมาณ 30 รู
- วางถุงข้าวในลักษณะแบนราบให้ข้าวแผ่กระจายทั่วถุง และไม่วางถุงข้าวซ้อนทับกัน ควรวางบริเวณที่มีแสงสว่าง อากาศถ่ายเท ไม่มีมดและสัตว์อื่น ๆ ประมาณ 5 – 7 วันเชื้อราจะเจริญปกคลุมเมล็ดข้าว
หมายเหตุ ในการผลิตขยายทุกขั้นตอนควรทำความสะอาดโต๊ะและอุปกรณ์ด้วยแอลกอฮอล์ 70 % และผู้ปฏิบัติงานควรฉีดพ่นแอลกอฮอล์ 70% ทุกครั้งก่อนทำการผลิตขยาย
ขอบคุณที่มา กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย