หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขที่ออกประกาศฯ ปลดล็อคสารสกัดบางประการในพืชกัญชงและกัญชาเพื่อให้ใช้เมล็ดกัญชงหรือน้ำมันหรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชงในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอางได้ พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการภายในประเทศใช้ประโยชน์กัญชงนอกเหนือจากเส้นใย หวังเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเพื่อนำรายได้เข้าประเทศ สร้างปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงในวงการแพทย์อย่างยิ่ง ส่วนหนึ่งจากวัฒนธรรมที่ถูกปลูกฝังว่า กัญชา = ยาเสพติด จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเปลี่ยนทัศนคติเหล่านั้นให้เห็นถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการนำกัญชามาใช้ และถูกเชื่อมโยงว่าการส่งเสริมเรื่องของกัญชาจะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถึงแม้จะมีข้อพิสูจน์ในทางการแพทย์ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า แคนนาบิไดออล (CBD) บริสุทธิ์ และผลิตภัณฑ์ที่ มี CBD เป็นส่วนประกอบหลักและสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในสัดส่วนที่น้อยกว่าร้อยละ 0.2 สามารถนำไปใช้ในการผลิตยาหรือสมุนไพรและสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอางได้
ทั้งนี้นโยบายในประเทศไทยกำหนดให้ยกเว้นเฉพาะสำหรับการผลิตในระยะ 5 ปีแรก เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยได้ใช้ประโยชน์จากกัญชงในการนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์อื่นที่นอกเหนือจากประโยชน์ด้านเส้นใย เพื่อพัฒนาพืชกัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย และหลังจากที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ได้ออกประกาศกำหนดลักษณะกัญชง (Hemp) ซึ่งมีสาระสำคัญที่จะเปิดโอกาสให้กัญชงและกัญชาสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและเพิ่มทางเลือกใหม่ในการรักษา ในประเทศไทยมีการใช้ยาสารสกัดกัญชาผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้แก่ ตำรับยาที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศภายใต้การรักษาโรค กรณีจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย (Special Access Scheme) และตำรับยาที่ได้รับอนุญาตภายใต้โครงการศึกษาวิจัยที่ได้รับอนุญาต จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารวมไปถึง ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ตามตำรับกัญชาแผนไทย และน้ำมันกัญชาตำรับหมอพื้นบ้านที่ได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ปัจจุบันมีสถานพยาบาลที่ให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์และคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 800 แห่ง ให้บริการผู้ป่วยกว่า 100,000 รายต่อปี จึงได้ขยายบริการกัญชาทางการแพทย์ไปสู่ภาคเอกชน เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาด้วยสารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์อย่างรวดเร็วและครอบคลุม เพิ่มโอกาส เพิ่มทางเลือกให้ผู้ป่วยโรคร้ายแรง เรื้อรัง เข้าถึงการรักษามากขึ้น ลดความแออัด ลดการรอคอยการรับบริการในโรงพยาบาลรัฐ มีสถานพยาบาลเอกชนได้รับใบอนุญาตจำหน่ายกัญชาทางการแพทย์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว 86 แห่ง เป็นโรงพยาบาล 22 แห่ง และคลินิก 64 แห่ง สถานพยาบาลเอกชนได้ซื้อผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์จากองค์การเภสัชกรรม เพื่อให้บริการกัญชาทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยแล้ว 31 แห่ง เป็นโรงพยาบาล 10 แห่ง และคลินิก 21 แห่ง และเตรียมเปิดให้บริการในโรงพยาบาลเอกชน 382 แห่ง และคลินิกเวชกรรม ทันตกรรม แพทย์แผนไทย และแพทย์แผนไทยประยุกต์อีกประมาณ 21,000 แห่ง
“กัญชาไม่ได้มีประโยชน์แต่เพียงเพื่อใครหรือให้ใครเท่านั้น แต่คืออีกหนึ่งทางออกและเครื่องมือเชิงกลไกที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ประเทศต้องเผชิญกับสถานการณโรคติดเชื้อโควิด 19 การหันมามองทิศทางเพื่อการหาช่องทางในการประกอบอาชีพคืออีกเรื่องที่จะต้องจับตามอง และการปลูกกัญชาก็ถือเป็นโอกาสให้กับประชาชนที่ยังว่างงาน ขาดรายได้ ให้มองหาโอกาสในการลงทุนเพื่อเพาะปลูกและประยุกต์เข้ากับอุตสาหกรรมที่ทำอยู่เพื่อเพิ่มมูลค่าในทางเศรษฐกิจต่อไป โดยประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นไม่เพียงแต่ในการพัฒนาเพื่อการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น การต่อยอดด้วยการขยายกลุ่มเพื่อพัฒนากลุ่มวิสาหกิจเกษตรกรเพื่อกัญชายังถือเป็นการส่งเสริมทางเศรษฐกิจและธุรกิจให้กับประเทศไทยของเราได้อีกด้วย” ดร.เภสัชกร อนันต์ชัย อัศวเมฆิน คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้สำหรับผู้ที่สนใจรับทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกัญชาและกัญชงสามารถติดตามข้อมูลได้ทางเว็บไซต์สถาบันกัญชาทางการแพทย์ www.medcannabis.go.th หรือโทร. 0 2590 1501 หรือผ่านทาง Facebook Fanpage : สถาบันกัญชาทางการแพทย์
ดร.เภสัชกร อนันต์ชัย อัศวเมฆิน
คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข