การใช้กัญชาทางการแพทย์ได้รับความสนใจเนื่องจากประชาชนได้หันมาใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์มากขึ้น ทั้งในการดูแลผู้ป่วยประคับประคองโรคทางกาย และโรคเกี่ยวกับทางระบบประสาทบางโรค ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานกัญชาเสรีทางการแพทย์ ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งในเรื่องการจัดบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการ และวิจัยกัญชาทางการแพทย์เพื่อการรักษาด้านจิตเวชในสังกัดได้ดำเนินการจัดบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการ
นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า คลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการแต่ละแห่งมีรายละเอียดในการให้บริการและบริหารจัดการที่แตกต่างกันได้โดยขึ้นอยู่กับบริบท ความพร้อมของบุคลากรและทรัพยากร กระบวนการสำคัญของการจัดตั้งคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการตามแนวทางการจัดบริการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการบริการกัญชาทางการแพทย์ที่เหมาะสมและปลอดภัย โดยปัจจุบันมีโรงพยาบาลจิตเวช 12 แห่ง ที่สามารถจัดตั้งคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการได้ครบวงจร ทั้งนี้สถานบริการทุกแห่งที่กล่าวมาข้างต้นมีพยาบาลวิชาชีพที่ผ่านการอบรมหลักสูตรพยาบาลผู้จัดการการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ (Care Manager) ที่กรมการแพทย์จัดขึ้นอีกด้วย
นายแพทย์สมัย กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันกรมสุขภาพจิต ได้ดำเนินการศึกษาวิจัย 7 เรื่อง ได้แก่การศึกษาความปลอดภัยและความทนต่อน้ำมันกัญชาในการรักษาอาการ BPSD ของผู้ป่วยสมองเสื่อม, การใช้สารสกัดกัญชารักษาภาวะผิดปกติจากแอลกอฮอล์, การศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยทางคลินิกของสารสกัดจากกัญชา ที่มี Cannabidiol (CBD) เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD), การศึกษาผลของตำรับยาสมุนไพรศุขไสยาสน์สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะนอนไม่หลับ, ประสิทธิภาพของแคนนาบิไดออลต่อคุณภาพการนอนหลับในผู้ป่วยกลุ่มโรควิตกกังวล, การพัฒนาเครื่องมือเฝ้าระวังปัญหาทางสุขภาพจิตและจิตเวช ในผู้ป่วยที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ในการรักษาโรค และการศึกษาอุบัติการณ์การเกิดอาการทางจิตเวชในผู้ที่ใช้กัญชาและผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ โดยเรื่องที่มีความน่าสนใจคือ การใช้สารสกัดกัญชารักษาภาวะผิดปกติจากแอลกอฮอล์ โดยโรงพยาบาลสวนปรุง ได้ทำแผนการวิจัยแบ่งเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 การพัฒนาวิธีวิเคราะห์ วิธีสกัดแยก และพัฒนาตำรับยากัญชาที่มีคุณภาพ และระยะที่ 2 การใช้แคนนาบิไดออลในการรักษาความผิดปกติของพฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์ โดยในระยะที่ 1 ได้ดำเนินการสำเร็จตามวัตถุประสงค์ นั่นคือการหาวิธีวิเคราะห์ สกัดแยก และพัฒนาตำรับยา CBD ให้มีความคงตัวและเหมาะสมกับการนำมาใช้วิจัยหรือรักษาผู้ป่วย ซึ่งผลการวิจัยในขณะนี้ได้นำสารสกัด CBD ที่ได้จากการสกัดแยกไปพัฒนายาเม็ดอม และอยู่ระหว่างการออกแบบและพัฒนาตำรับยา ด้วยสถานการณ์โควิดข้อจำกัดในการวิจัยเชิงทดลองได้รับผลกระทบอย่างมาก ทั้งในการพบกันระหว่างผู้วิจัยและกลุ่มตัวอย่าง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องเตรียมแผนการในการรับมือ และวางแผนการดำเนินงานที่เหมาะสมเพื่อให้การวิจัยเป็นไปตามแผนที่วางไว้ได้
กรมสุขภาพจิตจึงขอฝากข้อคิดในเรื่องของการใช้ยาน้ำมันกัญชาอยากให้ประชาชนหาข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ โดยในระบบสาธารณสุขมีการศึกษาวิจัยเพื่อให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อการใช้งาน สำหรับการนำกัญชาไปใช้เพื่อการรักษาโรคจึงต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์หรือหน่วยงานทางการแพทย์ที่ท่าน
รับบริการ อีกทั้งถ้ามีการสอบถามข้อมูลหลังการใช้ยา ต้องไม่ปิดบังข้อมูล ควรให้ข้อมูลต่อแพทย์ที่ทำการรักษาเพื่อประโยชน์ต่อการปรับตัวยาให้เหมาะกับการรักษาของโรค