ล่าสุดกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รับไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจแล้ว โดยถือเป็นธนาคารแรกที่เกษตรกรสามารถใช้ไม้ยืนต้นที่มีค่ามาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงิน ตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558
สำหรับเกษตรกรที่ต้องการกู้เงิน และใช้ไม้ยืนต้นที่มีค่ามาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ต้องเป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. และเป็นสมาชิกธนาคารต้นไม้ โดยสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ ซึ่งขั้นตอนการกู้เงินเป็นไปตามระเบียบของ ธ.ก.ส. ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อน
“การนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ เป็นการใช้ประโยชน์จากไม้มีค่าในพื้นที่ของตนเอง สามารถนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อได้ โดยไม่ต้องตัดขายเพียงอย่างเดียว และไม้ยืนต้นยังมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการเติบโตของต้นไม้ และยิ่งในช่วงนี้ มีเรื่องโควิด-19 ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพ การใช้ไม้ยืนต้นให้เป็นประโยชน์ ก็เป็นอีกหนึ่งทางรอดของเกษตรกร”
ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดให้ไม้ยืนต้นเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย.2561 โดยมีแนวทางส่งเสริมให้ใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจทั้งเชิงพาณิชย์ รวมทั้งส่งเสริมเชิงอนุรักษ์ผ่าน ธ.ก.ส. เนื่องจากเป็นธนาคารที่มีการดำเนินโครงการธนาคารต้นไม้ ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการนำร่อง ณ ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ บ้านดอนศาลเจ้า อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี โดย ธ.ก.ส. ให้ผู้ที่ผ่านการอบรมผู้ประเมินมูลค่าต้นไม้ของ ธ.ก.ส. เป็นผู้ประเมินราคาต้นไม้ของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ ทำให้การนำไม้ยืนต้นที่มีค่ามาเป็นหลักประกันทางธุรกิจสามารถดำเนินได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มากยิ่งขึ้น และจะมีการขยายโครงการดังกล่าวให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศอีกด้วย
ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส. ได้นำร่องให้สินเชื่อแก่เกษตรกรที่มีการนำไม้ยืนต้นที่มีค่าที่ปลูกในบริเวณบ้านในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรีไปแล้ว จำนวน 44 ต้น ประกอบด้วย มะขาม 9 ต้น มะกอกป่า 1 ต้น สะเดา 14 ต้น ตะโก 1 ต้น โมกมัน 1 ต้น งิ้วป่า 1 ต้น กระท้อน 1 ต้น มะเกลือ 2 ต้น ยอป่า 1 ต้น มะม่วง 1 ต้น และไม้แดง 12 ต้น มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงิน วงเงินสินเชื่อจำนวน 115,000 บาท