เทคนิคการปลูกลำไยต้นเตี้ยให้ได้ผลผลิตสูง
มิติใหม่ของการปลูกลำไย ด้วยเทคนิคการปลูกลำไยให้ต้นเตี้ย แต่ได้ผลผลิตมาก และที่สำคัญ ไม่เหนื่อย ไม่ยุงยาก ในการดูแลรักษา สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 1 ตัน ต่อไร่ ที่แนะนำโดย คุณลุงสุทัศน์ เกษตรกรจาก อ. ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้ปลูกลำไยต้นเตี้ยจนประสบความสำเร็จมาแล้ว
คุณลุงสุทัศน์ ปลูกลำไยมามากว่า 10 ปี และค้นพบเทคนิคการปลูกลำไยต้นเตี้ยให้ได้ผลผลิต เยอะกว่าปกติทั่วไปจากเดิมที่ในพื้นที่ 1 ไร่ เกษตรกรจะปลูกลำไยเพียง 25 ต้น ในลักษณะ 8 x 8 (ระยะห่างระหว่างแถวและระยะห่างระหว่างต้นคือ 8 เมตร) ตามตำราที่สอนกันมาแบบนี้ แต่สำหรับคุณลุงสุทัศน์ ผู้คิดต่าง เล่าถึงเทคนิคการปลูกลำไยในแบบฉบับของตัวเองให้ฟังว่า
“ด้วยความที่เราอายุเยอะแล้ว แล้วคนที่มาทำสวน ส่วนมากก็จะอายุเยอะทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นกว่าคุณจะเก็บเกี่ยวผลผลิตอีก 5 – 6 ปี และหวังว่าต้นจะอยู่กับเรา 40 – 50 ปี แต่ถึงตอนนั้นเจ้าของไม่อยู่กับต้นไม้ด้วยแล้ว ผมก็คิดว่าจะทำอย่างไร ถ้าเหมือนกับการทำธุรกิจก็ให้มันเทิร์นโอเวอร์ให้ไวที่สุด ก็เลยคิดว่า ถ้าเราปลูกให้ต้นมันเตี้ย แล้ว 1ไร่ เราใส่ไปสัก 300 ต้นล่ะ แทนที่จะเป็น 25 ต้น
แต่ตอนที่ผมคิดทำอันนี้ขึ้นมา ก็จะมีหลาย ๆ ท่าน บอกว่ามีทฤษฎีบังแสงกัน (ทฤษฎีบังแสง การปลูกลำใยจำเป็นจะต้องได้รับแสงที่เพียงพอ ในสภาพพื้นที่ที่มีแสงน้อยอาจเกิดการบังแสงของเมฆ ทำให้ละงักการเจริญเติบโต) ทำให้ต้นไม้ไม่ออกผลผลิต ถามว่าจริงไหม ก็จริง แต่แค่ส่วนหนึ่ง เพราะบ้านเราสภาพอากาศเป็นอากาศร้อนชื้น และแดดค่อนข้างจะแรง เพราะฉะนั้น ต้นไม้ยังไงเขาก็ได้รับแสงแดด แล้วเราก็ตัดแต่งกิ่ง เพื่อให้แสงแดงส่องได้ทั่วถึง เพื่อให้เขาได้ผลผลิต ก็เลยคิดลองทำ ตอนแรกมองถึงเรื่อง 400 ต้น 2 x 2 พอผมคิดอย่างนี้เสร็จ ก็ไปเจอในยูทูปอยู่อันหนึ่ง ที่ออสเตรเลียเขาทำ เป็นแบบ 2 X 4 เพราะฉะนั้น 1 ไร่ เขาก็ใส่ 200 ต้น เราก็มาคิดต่อว่าทำไมเขาจึงทำ 2 x 4 เพราะเขาต้องการเอาเครื่องจักรเข้าทำงาน เพราะเขาปลูกกันเป็นหลาย ๆ ร้อยไร่ เขาจึงใช้เครื่องจักร เราก็เลยเปลี่ยนจาก 2 x 2 เป็น 4 x 4 เพื่อว่าจะมีช่องว่างอีก แต่ทำอย่างไร ถ้า 4 x 4 แล้วแค่ 100 ต้น เพราะว่ามันได้ 100 หลุม ก็เลยเปลี่ยนใหม่ เอาเป็น 1 หลุม ปลูก 3 ต้น บังเอิญช่วงที่ผมทำลำไย กิ่งกระโดง ที่เขาว่าให้ตัดทิ้ง (กิ่งกระโดง คือกิ่งที่แยกออกมาจากลำต้นแล้วกิ่งตั้งขึ้นฟ้า) เขาก็บอกกันว่ากิ่งนี้จะโตแต่ไม่ให้ลูก ซึ่งกับลำไยมันไม่ใช่ แล้วบังเอิญที่ผมตัดทิ้งไม่ทัน กลายเป็นว่ากิ่งกระโดงเนี่ยช่อมันก็จะออกได้สวย เพราะกิ่งมันใหญ่มาก นั่นข้อนึง
ข้อที่ 2 เวลาค้างคาวมาเกาะลูกมันก็จะหลบจะห้อยลง ข้อที่ 3 ก็คือใบจะบังลูก ทำให้ผิวสวย แล้วอันนี้คือทฤษฎีบังแสงไหมละครับ ทำไมลำใยไม่ต้องการแสดงล่ะ ทำไมไม่ตรงกับคำพูดว่ามันต้องการแสง เพราะฉะนั้นบางอย่างถึงบอกกว่าเรื่องเกษตรเนี่ยยังไม่มีใครรู้จริงมากเลย ทีนี้พอทำตรงนี้เสร็จผมก็ทำเป็นรูปตัวแฉก เพื่อจุดประสงค์ก็คือต้องการกิ่งกระโดง วิธีการปลูกก็คือหลังจากที่เราได้ต้นพันธุ์มา ได้กิ่งพันธุ์มา เราขุดหลุมปลูกพอไม่ให้ต้นมันล้ม ตั้งแบบเอียง ๆ เฉียงสัก 45 องศา แทนที่เวลาเราปลูกต้นไม้เราจะตั้งตรง แต่ตอนนี้เราตั้งเอียง ใน 1 หลุม เราก็ปลูกไป 3 ต้น เป็น 3 แฉก พอเราปลูกแบบเอียงไปสักพักหนึ่ง กิ่งกระโดงก็จะขึ้น โดยธรรมชาติของต้นไม้จะเป็นแบบนั้น กิ่งกระโดงจะขึ้นรับแสง เพราะว่าต้นไม้จะขึ้นในแนวตั้ง ทีนี้ที่มันแยกออกไปเพราะว่าอันบนตั้งมันก็เลยเฉียงกันไปเฉียงกันมาดันกันไป แล้วกิ่งกระโดงเป็นกิ่งที่ใหญ่ เขาเลี้ยงตัวเองได้ดี แล้วเราก็จะทำให้ต้นตรงนีเราต้องการกี่เมตรล่ะ ถ้าเอา 2 เมตร ก็อยู่ 2 เมตรตลอดไป เราก็ตัดแต่งกิ่ง อันนี้คือหัวใจของการทำไม้ผล ถ้าไม่ตัดแต่งกิ่ง เขาก็จะแตกไปเรื่อย แล้วอาหารจากต้น จากโคนกว่าจะเลี้ยงไปถึงยอดสุด กับที่เลี้ยงใกล้ ๆ กับต้นมันต่างกัน
ส่วนระยะเวลาในการปลูกจนได้เก็บเกี่ยวผลผลิต มันมีข้อคิดอยู่อันหนึ่ง คือว่าส่วนมากแล้วเวลาเราซื้อกิ่งตอน เราจะซื้อกิ่งเท่านิ้วชี้ เหตุผลว่าทำไมเราซื้อกิ่งเท่านิ้วชี้ เพราะบางทฤษฎีก็บอกว่า กิ่งเล็ก ๆ จะโตไว ถามว่าจริงไหม มันก็คงจริงแต่อาจจะแค่ส่วนหนึ่ง ส่วนผมเวลาตอนกิ่งมาปลูกผมจะตอนกิ่งเท่าแขนเสมอ แล้วผมใช้เวลาแค่ปีครึ่งให้ผลผลิตเลย เหตุผลเพราะว่าถ้าผมมัวแต่รออีก 5 ปี ตอนนี้ผม 65 ถึงตอนนั้นผมก็คง 70 ผมคงตายก่อนต้นแล้ว ไม่ทันได้กินแล้ว ก็เลยคิดว่าก็เราก็ทำไปเลย เท่าทีผมทำตรงนี้อยู่แล้ว เรารู้เลยว่าในหลุมตรงนี้ ถ้าเราเอาไว้ให้เขาออกลูกปีแรก หรือปีครึ่งเนี่ย ทั้งหมดทั้ง 3 ต้น ถ้าเกิดไว้โดยที่ไม่ได้ตัดแต่งอะไรเลย ผลผลิต 20 กิโลกรัม ได้แน่ ๆ แต่ถ้าเราตัดเพื่อจะเอาช่อไว้เอาเกรดพรีเมี่ยม 10 กิโลกรัม นี่สบายเลย ถ้าสมมุติได้ผลผลิต 10 กิโลกรัม ใน 1 หลุม มี 100 หลุม ก็เท่ากับ 1 ตันในปีแรก ถูกไหมครับ ถามว่าถ้าเราปลูก 25 ต้น เหมือนคนอื่น เอาไว้ต้นละ 10 กิโลกรัม คุณได้แค่ 250 กิโลกรัม เพราะฉะนั้นทำอะไรก็แล้วแต่ให้มันไวดีกว่า เราจะได้ไม่ต้องเหนื่อย เพราะว่าบ้านเราผมว่าการเกษตรนี้ยังกลับหัวกลับหางอยู่
การทำเกษตรไม่มีใครรู้จริง แล้วก็ไม่มีใครไม่รู้จริง เรื่องทฤษฎีพวกนี้มันเป็นเรื่องของหลักวิชาการ ลำไยชอบความหนาวอยู่ในช่วงหนึ่งเพื่อเขาฟอร์มตาดอกแค่นั้นเอง และนี่คือหลักการ หลักวิชาการ ผมถึงบอกว่า บางทีนักวิชาการก็มัวแต่ทำวิชาการ ลองลงมานั่งทำดูแล้วจะรู้ว่าบางอย่างมันไม่เป๊ะขนาดนั้น เปรียบเสมือนว่าวิชาการกับปฏิบัติการ มันเหมือนกระเดือกกับคอหอย มันต้องไปด้วยกัน
สิ่งที่คุณลุงสุทัศน์ อยากจะฝากถึงเกษตรกรก็คือ “ผมว่าต้องเปลี่ยนเรื่องทัศนคติในการปลูกไม้ผลก่อน อย่างวันนี้ทำลำไยก็จะพูดถึงเรื่องลำไย บางอย่างทฤษฎีบางอย่างก็ถูก แต่เราคิดถึงตัวเราก่อน เราอายุเท่านี้ แล้วเราจะรออีกให้มันอยู่อีก 40 – 50 ปี หวังเช่นนั้น เพราะฉะนั้นเจ้าของอยู่ถึงไหม แต่ถ้าเจ้าของไม่อยู่ อยู่ถึงลูกถึงหลาน ลูกหลานจะทำต่อไหม เขาอาจจะขายที่ทิ้งไปก็ได้ ที่เราทำมาทั้งหมดทั้งมวลก็เหนื่อยเปล่า ๆ พยายามใช้วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ปลูกระยะชิด ให้ต้นเตี้ย เพื่อดูแล 2 คน ตายาย ในพื้นที่ที่ไม่ต้องมากนัก เกษตรบ้านเราต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ อย่าไปทำอะไรแบบเดิม ๆ คือถ้าทำอะไรแบบเดิม ๆ ก็ได้เดิม ๆ ก็อยากจะให้ทุกคนลองคิดเรื่องทำการเกษตรเสียใหม่ ในสิ่งที่มันน่าจะเป็นไปได้สำหรับตัวเราก่อน อย่างเพิ่งไปคิดเผื่อลูกหลาน เพาะลูกหลานเราไม่รู้ว่าเขาจะสนใจหรือเปล่า ที่ดินที่ผืนนี้สมมุติปีนี้ไร่ละ 1 ล้าน เราทำไป 10 ปี จนกลายเป็นไร่ละ 10 ล้าน มันยั่วใจเขาที่จะขายที่ดินถ้าเราไม่อยู่แล้ว”
เทคนิคดี ๆ อย่างนี้ สำหรับใครที่สนใจก็สามารถเอาไปทดลองปลูกได้ คุณลุงบอกว่าไม่หวง
เรื่องอย่างนี้ เรื่องหลักการทำเกษตรอย่าไปหวงกันเลยครับ อย่างไรคุณก็หาข้อมูลได้หมด ถ้าผมไม่เป็นเกษตรมาก่อนผมก็มาหาข้อมูลเกษตรจากผู้ที่มีประสบการณ์ แล้วก็โชคดีที่ได้อาจารย์ที่ดี
#ลำไย #เทคนิคปลูกลำไย #เกษตรสัญจร #ผลผลิตสูง #รักษาง่าย #มิติใหม่
—————————
เกษตรสัญจร สื่อเกษตรยุคใหม่ แหล่งข้อมูลสาระที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
รวมเรื่องเด็ด เกษตรกูรู ศูนย์รวมความรู้และเทคนิคการทำเกษตร
Facebook: facebook.com/kasetsanjorn
YouTube: youtube.com/c/Kasetsanjorn
Twitter: twitter.com/kasetsanjorn/
Website: kasetsanjorn.com