สวพส. พุ่งเป้าแก้ปัญหาหมอกควันลดการเผาบนพื้นที่สูง
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือนั้นเป็นปัญหาสะสมและทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องมานานหลายปี ซึ่งภาคเหนือจะถูกปกคลุมด้วยหมอกควัน ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนเมษายน ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของประชากรในพื้นที่ต้องเผชิญกับมลภาวะทางอากาศ ซึ่งสาเหตุของปัญหาเรื่องหมอกควันนั้นเกิดมาจากการเผาพื้นที่เกษตร ทาง สวพส. จึงเข้าดำเนินงานในพื้นที่โดยใช้รูปแบบการบริหารจัดการกระบวนการมีส่วนร่วมเชิงบูรณาการจากหน่วยงานทุกระดับ โดยนำผลสำเร็จของสถาบันในการเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงในพื้นที่ โดยดำเนินการใน 44 พื้นที่ ครอบคลุม 8 จังหวัด ซึ่งทำให้จุดความร้อน (Hotspot) ลดลงอย่างมีนัยยะ
แสดงจุดความร้อน 8 จังหวัดที่มีโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงตั้งอยู่
จังหวัด | จำนวนพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงฯ | ปี 2560
ม.ค. – พ.ค |
ปี 2561
ม.ค. – พ.ค |
ปี 2562
ม.ค. – พ.ค |
ปี 2563
ม.ค. – พ.ค |
ปี 2564
ม.ค. – พ.ค. |
เชียงราย | 3 | 64 | 118 | 1,271 | 816 | 113 |
เชียงใหม่ | 20 | 48 | 632 | 1,813 | 2,579 | 710 |
แม่ฮ่องสอน | 3 | 460 | 485 | 1,048 | 1,184 | 598 |
ตาก | 4 | 987 | 1,321 | 874 | 1,525 | 442 |
น่าน | 11 | 199 | 180 | 908 | 646 | 102 |
เพชรบูรณ์ | 1 | 41 | 12 | 32 | 56 | 39 |
กำแพงเพชร | 1 | 16 | 9 | 32 | 38 | 12 |
กาญจนบุรี | 1 | 120 | 112 | 309 | 478 | 171 |
รวม | 44 | 1,845 | 2,869 | 6,287 | 7,322 | 2,187 |
ในปี 2564 พบจุดความร้อนในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง โดยจำแนกตามลุ่มน้ำ ดังนี้
- โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงกลุ่มที่ 1 เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และกาญจนบุรี พบจุดความร้อนในพื้นที่โครงการทั้งหมด 596 จุด พื้นที่รับผิดชอบของโครงการ 1,295,170 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.05 ของพื้นที่ทั้งหมด
- โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงกลุ่มที่ 2 เชียงราย พบจุดความร้อนในพื้นที่โครงการทั้งหมด 113 จุด พื้นที่รับผิดชอบของโครงการ 469,758 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.02 ของพื้นที่ทั้งหมด
- โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงกลุ่มที่ 3 น่าน พบจุดความร้อนในพื้นที่โครงการทั้งหมด 102 จุด
พื้นที่รับผิดชอบของโครงการ 911,765 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.01 ของพื้นที่ทั้งหมด - โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงกลุ่มที่ 4 ตากและแม่ฮ่องสอน พบจุดความร้อนในพื้นที่โครงการทั้งหมด 588 จุด พื้นที่รับผิดชอบของโครงการ 1,211,980 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.05 ของพื้นที่ทั้งหมด
- โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่เฉพาะ (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอนและตาก) พบจุดความร้อนในพื้นที่โครงการทั้งหมด 388 จุด พื้นที่รับผิดชอบของโครงการ 1,214,384 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.06 ของพื้นที่ทั้งหมด
ซึ่งจุดความร้อน (Hotspot) ทั้ง 5 พื้นที่ในปี 2564 รวมทั้งหมด 2,187 จุด เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรกรรม 599 จุด พื้นที่ป่า 1,588 จุด เมื่อเทียบกับปี 2563 เกิดจุดความร้อนในพื้นที่เกษตรกรรม 1,610 จุด พื้นที่ป่า 5,712 จุด จะเห็นได้ว่าจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรกรรมลดลงร้อยละ 63 และจุดความร้อนในพื้นที่ป่าลดลงร้อยละ 72 สืบเนื่องมาจากมาตรการแต่ละจังหวัดได้ออกมาตรการควบคุมและข้อบังคับใช้ทางกฎหมายกับผู้ที่ก่อเหตุ ทำให้ประชาชนตระหนักให้ความสำคัญกับปัญหาหมอกควัน ทางโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงได้เข้าดำเนินการให้ความรู้แก่ชุมชนเพื่อปรับระบบเกษตรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการเผา เพิ่มพื้นที่สีเขียว คืนป่า ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน จึงทำให้เห็นว่าจุดความร้อนในพื้นที่โครงการฯ พบน้อยลงเมื่อเทียบกับทั้งจังหวัด
นายวิรัตน์ กล่าวต่อไปว่า สวพส. ได้ดำเนินงานในพื้นที่โดยใช้รูปแบบการบริหารจัดการกระบวนการมีส่วนร่วมเชิงบูรณาการจากหน่วยงานทุกระดับ มุ่งเป้าไปที่การทำให้เกษตรกรเปิดใจยอมรับและเห็นความสำคัญของปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร เริ่มจากค้นหาผู้นำชุมชนที่มีความเสียสละ มีจิตอาสา ซื่อสัตย์มีคุณธรรม โดยสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นแก่ผู้นำชุมชน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนสำคัญในทุกขั้นตอนของการพัฒนา โดยเจ้าหน้าที่ สวพส. จะดำเนินงานร่วมกับชุมชนอย่างใกล้ชิด ทั้งรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยคิดว่าชาวบ้านคือสมาชิกในครอบครัวที่สามารถให้คำปรึกษาและช่วยแก้ปัญหาได้ จนเกิดเป็นความเชื่อมั่นศรัทธาในแนวทางการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ สวพส. และให้ความร่วมมือในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การร่วมวิเคราะห์ปัญหาความต้องการของชุมชน กำหนดเป้าหมายและแนวทางการพัฒนา จากนั้นถ่ายทอดความรู้และให้ข้อมูลแก่ชุมชนในการปรับวิถีเกษตรจากดั้งเดิมที่มีการเผามาเป็นระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวทางโครงการหลวง ด้วยวิธีการที่หลากหลายสอดคล้องตามสภาพภูมิสังคม เช่น การปลูกข้าวโพดโดยไม่ไถพรวนและเหลื่อมด้วยพืชตระกูลถั่ว ส่งเสริมการปลูกพืชหลังนา การทำคันปุ๋ยจากวัชพืชและตอซังข้าวโพด การปลูกข้าวระบบน้ำน้อย การทำปุ๋ยหมักไม่กลับกอง ส่งเสริมการปลูกผักในโรงเรือน ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการส่งเสริมการปลูกป่าและหญ้าแฝกภายใต้โครงการจิตอาสาเราทำความดี หลายชุมชนเกิดความตระหนัก มีจิตสำนึกในการที่จะดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตให้เกื้อกูล ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม เป็นแบบอย่างของชุมชนอยู่ร่วมกับป่า เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ ดูแลรักษา แก้ปัญหาร่วมกัน และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตซึ่งเป็นเรื่องท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์ ว่าเราจะทำอย่างไรให้ดำรงและรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ “ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้ พัฒนาได้”
#PRNews #สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง #ปัญหาหมอกควัน #เกษตรสัญจร #ลดการเผาบนพื้นที่สูง
—————————
เกษตรสัญจร สื่อเกษตรยุคใหม่ แหล่งข้อมูลสาระที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
รวมเรื่องเด็ด เกษตรกูรู ศูนย์รวมความรู้และเทคนิคการทำเกษตร
Facebook: facebook.com/kasetsanjorn
YouTube: youtube.com/c/Kasetsanjorn
Twitter: twitter.com/kasetsanjorn/
Website: kasetsanjorn.com