(28 มิ.ย.64) นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่บ้านใหม่พรสวรรค์ หมู่ที่ 6 ตำบลนาโบสถ์ อำเภอวังจ้าว จังหวัดตาก เป็นประธานพิธีเปิดโครงการรณรงค์การป้องกันและควบคุมโรคลัมปี – สกิน (Lumpk Skin Disesae) ในโค – กระบือ พร้อมมอบเวชภัณฑ์อาหารสัตว์ ยารักษาสัตว์ป่วยตามอาการ ยากำจัดแมลง และหญ้าแห้งอาหารสัตว์ ให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ โดยมีนายพงศ์รัตน์ ภิรมรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ตลอดจนผู้นำภาคประชาชนเข้าร่วม
“จังหวัดตากเป็นจังหวัดที่มีเขตแดนอยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทำให้มีการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์เข้ามาตามช่องทางธรรมชาติบ่อยครั้ง ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ส่วนราชการ และเกษตรกร ตลอดจนภาคประชาชน ที่ช่วยกันเป็นส่วนหนึ่งในการสอดส่องดูแล และช่วยกันในการควบคุมการระบาดของโรค ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังพิจารณาดำเนินการของบกลาง และจะนำเข้าครม. โดยเร็วที่สุด เพื่อให้กรมปศุสัตว์มีงบประมาณในการสั่งซื้อวัคซีนเพิ่มอีก 5 ล้านโดส เพื่อใช้ในการควบคุมโรคลัมปี – สกิน
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมเสนอต่ออธิบดีกรมบัญชีกลางและปลัดกระทรวงการคลังเพื่อปรับปรุงระเบียบการจ่ายเงินเยียวยากรณีโค -กระบือ เสียชีวิต โดยอัตราเงินเยียวยาใหม่ จะเยียวยาโคต่ำสุด 13,000 บาทต่อตัว สูงสุด 35,000 บาทต่อตัว กระบือเยียวยาต่ำสุด 16,000 บาทต่อตัว สูงสุด 41,000 บาทต่อตัว และยังจะให้เพิ่มการเยียวยาจากเดิมให้เกษตรกรเจ้าของโค-กระบือ ตามจริง แต่ไม่เกินรายละ 2 ตัว จะปรับเป็น 5 ตัวต่อราย” รมช.ประภัตร กล่าว
โอกาสนี้ รมช.ประภัตรยังได้แนะนำโครงการเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ ล้านละร้อย โดยเกษตรกรต้องรวมกลุ่มให้ได้ 7 คน จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ทำเกษตรกรรม มีตลาดรองรับผลผลิต ก็สามารถยื่นกู้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ วงเงินกู้สูงสุด 10 ล้านบาท ระยะเวลากู้ 3 ปี หากเกษตรกรสนใจโครงการดังกล่าว สามารถติดต่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานปศุสัตว์หรือธกส. ในพื้นที่
ทั้งนี้ จังหวัดตากมีจำนวนโค – กระบือ ประมาณ 239,949 ตัว สถานการณ์ปัจจุบัน จังหวัด
ตากพบการระบาดของโรคลัมปี – สกิน รวมทั้งสิ้น 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองตาก อำเภอวังเจ้า อำเภอบ้านตาก อำเภอสามเงา และอำเภอแม่ระมาด มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 1,201 ราย พบสัตว์ป่วยสะสม 6,105 ตัว มีสัตว์เสียชีวิต 85 ตัว ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกรมปศุสัตว์แล้ว 9,780 โด๊ส และจะได้มีการจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติมเพื่อควบคุมโรคในพื้นที่ต่อไป (ข้อมูล ณ วันที่ 28 มิ.ย. 64)