จุดเริ่มต้นในการทำการเกษตร
จุดเริ่มต้นในการหันมาทำการเกษตร เริ่มต้นจากอยากมีรายได้ โดยเริ่มต้นจากการเลี้ยงกบและปลาดุก สาเหตุที่เริ่มต้นจากกบและปลาดุกเนื่องจากชอบและมีใจรักในการเลี้ยงสัตว์มาตั้งแต่เด็ก เริ่มต้นจากการซื้อกบและปลาดุกมาเลี้ยงแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเลี้ยงไปแล้วไม่โต เพราะไม่มีความรู้เรื่องอาหารและการเลี้ยง ต้องใช้ระยะเวลากว่า 4 ปี จึงจะเริ่มประสบความสำเร็จ
การตัดสินใจเริ่มต้นทำการเกษตรตั้งแต่อายุ 11 ปี ที่บ้านให้การสนับสนุนและส่งเสริมอย่างดี โดยน้องกาฟิวส์เริ่มต้นทำมาถึง 4 ปี จึงจะเริ่มเห็นผล โดยได้รับทุนก้อนแรกประมาณ 6,000 บาท ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประสบผลสำเร็จจนทุกวันนี้
ช่วงแรกในการเริ่มต้นทำการเกษตร เริ่มจากพื้นที่ 2 ไร่ จนปัจจุบันมีพื้นที่มากถึง 31 ไร่ โดยคนในครอบครัวทุกคนช่วยกันดูแลเนื่องจากมีพื้นที่จำนวนมาก การทำเกษตรแบบผสมผสานในพื้นที่ 31 ไร่ ของน้องกาฟิวส์ มีการปลูกผักหลากหลายชนิด โดยเฉพาะการปลูกมะเขือเทศ ที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จในปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันที่ฟาร์ม เลี้ยงควายเป็นหลัก ซึ่งเป็นควายเกรดพัฒนา สำหรับนำไปพัฒนาเป็นควายราคาหลักล้าน มีการเลี้ยงกบจาน เป็นกบลูกผสมเลี้ยงเพื่อการค้า และการเลี้ยงปลาโดยจำหน่ายทั้งปลาเนื้อ และลูกปลา โดยเป็นพันธุ์ปลาน้ำจืดและปลาไทยสายพันธุ์ที่เริ่มหายาก เช่นปลาชะโอนและปลาหมอตาล และรับลูกปลาจากแหล่งอื่น ๆ มาจำหน่ายเป็นศูนย์กลางโดยจำหน่ายในราคาไม่แพง เพื่อเป็นตลาดกลางให้กลุ่มเครือข่าย
การเริ่มต้นเลี้ยงปลาควบคู่กับการเลี้ยงกบ
การลงทุนเลี้ยงกบและปลาดุกครั้งแรกลงทุนด้วยงบหลักร้อย แต่ขาดความรู้ในเรื่องของการให้อาหารแต่ละช่วงวัย ทำให้กบและปลาดุกที่เลี้ยงได้รับอาหารไม่ถึง จึงไม่โต น้องกาฟิวส์จึงเริมเรียนรู้ใหม่ จากฟาร์มกบฟาร์มปลาใกล้เคียงที่มีความรู้จริง ๆ ทางฟาร์มก็ให้โอกาสในการเข้าไปเรียนรู้ สอนวิธีการในการเลี้ยงและให้คำแนะนำ ซึ่งน้องกาฟิวส์เข้าไปขอความรู้จากฟาร์มด้วยความตั้งใจจริง ทำให้ทางฟาร์มเต็มใจที่จะช่วยเหลือ
หลังจากเข้าไปเรียนรู้ที่ฟาร์ม น้องกาฟิวส์ได้นำมาปรับปรุงวิธีการเลี้ยงใหม่ ปรับเปลี่ยนพื้นที่และรูปแบบการเลี้ยง สาเหตุที่ก่อนหน้านี้น้องกาฟิวส์เลี้ยงกบและปลาดุกไม่ประสบผลสำเร็จเกิดจาก รูปแบบของบ่อที่เลี้ยงเช่นบ่อปูนจะมีข้อจำกัดในเรื่องของอาหารจากธรรมชาติ คุณภาพอาหารและปริมาณไม่สัมพันธ์กับจำนวนปลาที่เลี้ยง ทำให้ปลาไม่โต
เงินก้อนแรกที่ได้รับ 6,000 บาท ได้มาจากการขายพันธุ์ปลา โดยรับลูกปลาจากแหล่งต่าง ๆ มาอนุบาลขาย และต่อยอดเป็นจำนวนเงินมากขึ้นเรื่อย ๆ และได้รู้จักเพื่อนใหม่ ๆ ในวงการการเลี้ยงปลาเยอะมากขึ้น เป็นการเกื้อกูลกันจากการเป็นตัวกลางช่วยจำหน่ายลูกปลา โดยที่ฟาร์มถือเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่
ที่ฟาร์มมีปลาสายพันธุ์อะไรบ้าง ?
ที่ฟาร์มจะมีลูกปลาจำหน่ายตามฤดูกาล โดยแบ่งเป็นปลาดุก ปลานิล ปลาสายพันธุ์พื้นฐานทั่วไป รวมทั้งปลาสายพันธุ์แปลก ๆ เช่น ปลาสวายเผือก ปลาแรดเผือก และมีปลาสวยงามบ้าง
ลูกปลาสายพันธุ์ที่เป็นที่นิยมจะเป็น ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา3 เป็นปลานิลสายพันธุ์ที่ยังไม่ถูกแปลงเพศ เป็นที่นิยมและยอดขายเป็นอันดับ 1 เนื่องจากปลานิลสายพันธุ์นี้สามารถขยายพันธุ์ได้ และกินพืชเป็นอาหาร นำไปเลี้ยงแค่ระยะเวลา 4 เดือน สามารถขยายพันธุ์ต่อได้ โดยซื้อแค่ครั้งเดียวก็สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้เลี้ยงได้แล้ว ที่ฟาร์มจะจำหน่ายอยู่ที่ตัวละประมาณ 1 บาทกว่า ๆ ซึ่งที่ฟาร์มจะไม่จำกัดจำนวนการซื้อขั้นต่ำ สามารถซื้อได้ในหลักสิบถึงหลักหมื่นตัว
ปลาตะเพียน ปลายี่สก ที่ฟาร์มจะมีจำหน่ายด้วย โดยจำหน่ายที่ราคาตัวละประมาณบาทกว่า ๆ คล้าย ๆ กับลูกปลาพันธุ์อื่น ๆ และปลาทับทิมจำหน่ายที่ราคาตัวละประมาณ 3 บาทกว่า โดยปลาทับทิมของที่ฟาร์มจะโตไว สันหนา และตัวอ้วน ซึ่งสายพันธุ์ปลาที่ฟาร์มนำมาจำหน่ายจะเป็นสายพันธุ์ที่สามารถเลี้ยงรวมกันได้
ปลาดุกที่ฟาร์มจะมีจำหน่ายในราคาตัวละประมาณบาทกว่า ๆ เหมือนกัน แต่ปลาดุกควรเลี้ยงแยก เนื่องจากปลาดุกชอบหนี และปลาดุกเป็นปลากินเนื้อไม่ควรเลี้ยงรวมกับปลากินพืช ปลาดุกจะใช้เวลาการเลี้ยงน้อยกว่าปลาชนิดอื่น ๆ ใช้เวลาเลี้ยงแค่ 3 – 4 เดือนก็สามารถจำหน่ายได้แล้ว ที่ฟาร์มจะมีปลาเนื้อจำหน่าย จะมีปลาดุกจำหน่ายในกิโลกรัมละ 50 – 60 บาทต่อกิโลกรัม และปลาทับทิมจำหน่าย 80 บาท ต่อกิโลกรัม
สายพันธุ์ปลาหายากที่มีจำหน่าย
นอกจากที่ฟาร์มจะจำหน่ายลูกปลาสายพันธุ์ทั่วไปแล้ว ยังมีสายพันธุ์ปลาไทยโบราณที่หายากและใกล้สูญพันธุ์จำหน่ายด้วย เช่น ปลาหมอตาล และปลาชะโอน จัดเป็นประเภทปลาเนื้ออ่อน ชนิดที่กินพืช ซึ่งขายดีมากเป็นที่สนใจของลูกค้าจากทั่วประเทศ
การเลี้ยงปลาหมอตาล มีวิธีการเลี้ยงที่ไม่ยุ่งยาก สามารถเลี้ยงในกระชังหรือบ่อดิน โดยให้อาหารกบเป็นอาหารหลักเนื่องจากมีโปรตีนสูง เลี้ยงแค่ 6 – 7 เดือน สามารถจำหน่ายได้ โดยจำหน่ายที่กิโลละประมาณ 70 – 80 บาท และมีต้นทุนการเลี้ยงต่ำ ลักษณะเนื้อของปลาหมอตาลจะค่อนข้างหวาน เป็นเอกลักษณ์ มีลักษณะเนื้อใกล้เคียงกับปลาสลิด
ปลาชะโอนที่ฟาร์มกำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาทดลองเลี้ยง ยังไม่มีจำหน่าย ปลาชะโอนหรือปลาเนื้ออ่อน จะมีรสชาตืที่อร่อยมาก มีราคาค่อนข้างสูง ใช้เวลาเลี้ยงแค่ 4 – 5 เดือน สามารถจำหน่ายได้ และใช้ต้นทุนไม่มาก ที่ฟาร์มจะใช้วิธีการเลี้ยงลูกปลาแบบไม่ใช้ออกซิเจน ทำให้ลูกปลาที่ฟาร์มมีความแข็งแรง ไม่ตายง่าย
หากสนใจเลี้ยงปลาต้องเริ่มต้นอย่างไร ?
หากจะเลี้ยงพันธุ์ปลา ให้ดูจากความสนใจและพื้นที่ก่อน สิ่งสำคัญคือใจรัก และต้องมีเงินทุน ซึ่งปัจจุบันเงินทุนสำคัญมากในยุคนี้ หากจะเริ่มต้นทำอะไรต้องใช้ทุนเป็นหลัก โดยให้เริ่มต้นทำจากเล็กไปใหญ่จะดีที่สุด ตามคำสอนที่ว่า เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง ต้องมีการดูแลและใส่ใจในทุกอย่างแม่กระทั่งการสรรหาลูกพันธุ์ อาหาร และสิ่งสำคัญที่สุดคือการตลาดที่เป็นตัวแแปรสำคัญ
นอกจากการเลี้ยงปลาแล้วที่ฟาร์มยังมีการเลี้ยงกบจานควบคู่ไปด้วย
การเลี้ยงกบเลี้ยงอย่างไร ?
กบที่เลี้ยงในฟาร์มจะเป็นกบจานสายพันธุ์ลูกผสม โดยมีการเลี้ยงตามร่องสวนในกระชัง เลี้ยงแค่ระยะเวลา 2 เดือน เริ่มจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละประมาณ 90 -100 บาท ซึ่งในช่วงหน้าหนาวราคาจะค่อนข้างแพง สามารถจำหน่ายได้ถึงตันละประมาณ 100,000 บาท
ข้อดีของการเลี้ยงกบในกระชังคือ ?
การเลี้ยงกบในกระชัง จะมีข้อดีคือไม่ต้องคอยถ่ายน้ำ เนื่องจากที่ฟาร์มจะมีการดูแลน้ำอยู่ตลอด และมีการบำบัดน้ำด้วยผักบุ้ง โดยจะปลูกผักบุ้งสลับกับการเลี้ยงกบในกระชังและมีการใส่จุลินทรีย์บ้างเพื่อช่วยบำบัดน้ำเสีย
กระชังที่ใช้สำหรับเลี้ยงกบ จะแบ่งเป็นกระชังสำหรับแยกไซต์ ขนาดกระชังจะแบ่งเป็น 3 x 2.5 เมตร จะปล่อยกบที่กระชังละ 700 ตัว และใช้แพรองเท้ายัดใส้ข้างล่างกระชัง เพื่อให้กบสามารถเกาะได้และไม่จมน้ำ
ข้อควรระวังในการเริ่มต้นเลี้ยงกบ
ในการเลี้ยงกบช่วงแรก มีเทคนิคที่สำคัญคือ หากนำลูกกบมาช่วงแรกต้องปูแพให้เต็ม อย่าให้มีช่องน้ำเยอะเพราะลูกกบจะจมน้ำตายเนื่องจากว่ายน้ำยังไม่แข็งแรง
วิธีการดูแลกระชังกบ
ในช่วงหน้าร้อนต้องมีการปิดแสลนเพื่อป้องกันแสงแดด แต่ในช่วงหน้าหนาวจะไม่มีการปิดสแลนเนื่องจาก อากาศหนาวต้องให้กบได้รับความอบอุ่นจากแสงแดด แต่ต้องมีตาข่ายปิดด้านบนเพื่อกันนกและงู
ปัจจุบันที่ฟาร์มยังมีการเลี้ยงควายเป็นหลัก ซึ่งมีเทคนิคและวิธีการดังนี้ครับ
การเลี้ยงควายเกรดพัฒนาคืออะไร ?
ควายเกรดพัฒนาคือควายที่มีพัฒนาการมาจากควายเนื้อ มีความสูงเฉลี่ยที่ 135-145 เซนติเมตร เป็นจุดเริ่มต้นของควายเกรดที่จะนำไปพัฒนาเป็นควายราคาตัวละล้าน สาเหตุที่ตัดสินใจเลี้ยงควายเกรดพัฒนา เนื่องจากมองว่ามีมูลค่ามากกว่าควายเนื้อ ปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมและมีวิธีการเลี้ยงคล้าย ๆ กับควายทั่วไป
ข้อแตกต่างระหว่างควายเนื้อกับควายเกรดพัฒนา
จะแตกต่างในด้านการทำโรงเรือน โดยการเลี้ยงควายเกรดพัฒนา จะมีโรงเรือนสำหรับให้พักผ่อนในตอนกลางวัน มีบ่อน้ำให้ควายแช่น้ำเล่น จะไม่เหมือนควายเนื้อที่จะปล่อยให้ไปทานหญ้าตามอิสระ ไม่มีหลังคาบังแดด
การเลี้ยงควายสายเกรดพัฒนา จะมีการเสริมอาหารเม็ดและดูแลด้านโภชนาการ มีสัตวแพทย์คอยดูแล ปัจจุบันที่ฟาร์มมีควายสายพันธุ์พัฒนาในราคาหลักหมื่นถึงหลักแสน จำนวน 16 – 17 ตัว โดยควายเกรดพันธุ์พัฒนา จะมีโครงที่ใหญ่และมีความสูง ตัวหนา
ลักษณะของควายสายพันธุ์พัฒนาที่ดี ให้สังเกตุจากลักษณะการยืนจะต้องสมส่วน ขาใหญ่ ลำตัวหนา คอใหญ่ และส่วนสูงได้มาตรฐาน
การดูแลควายสายพันธุ์พัฒนา
การให้อาหารจะให้เป็นอาหารเม็ดและรำในช่วงเช้า โดยจะให้ฟางเป็นอาหารเสริมเพื่อให้ควายเคี้ยวเอื้อง และจะให้หญ้าแพงโกล่ารวมกับหญ้าทั่วไปเสริมด้วย ที่ฟาร์มปลูกหญ้าแพงโกล่าเอง ในพื้นที่ 7 ไร่ เพื่อเป็นอาหารหลักในการดูแลควายสายพันธุ์พัฒนา ส่วนอาหารเม็ดที่ให้ควายรับประทาน จะเป็นอาหารโคเนื้อ ซึ่งจะช่วยในเรื่องของรูปร่าง
ที่ฟาร์มแบ่งพื้นที่การเลี้ยงควายสายพันธุ์พัมนาประมาณ 5 ไร่ มีควายทั้งหมด 17 ตัว โดยมีตัวผู้แค่ 1 ตัว นอกนั้นเป็นตัวเมียทั้งหมด ในฟาร์มจะมีการเตรียมบ่อน้ำสำหรับควายแวะมากินน้ำในเวลาที่หิว และมีการปล่อยควายให้ออกไปเดินเล่นในพื้นที่กว้าง ๆ เพื่อให้ควายไม่เครียด
วิธีการขยายพันธุ์ควายสายพันธุ์พัฒนา
การผสมพันธุ์ควายจะใช้การผสมจากน้ำเชื้อเกือบทั้งหมด โดยปศุสัตว์จะมีแคตตาล็อกมาให้เลือกน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ที่ต้องการผสมได้เลย
การผสมแต่ละครั้งอาจจะมีโอกาสที่ไม่ติดลูกได้ ซึ่งราคาในการผสมแต่ละครั้งประมาณ 2,000 – 4,000 บาท ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่ต้องการผสม หากเป็นดีกรีแชมป์เปียนจะมีราคาที่ค่อนข้างสูง ลูกควายที่คลอดออกมาหากเป็นตัวเมียจะมีราคาสูงมากกว่าตัวผู้ และตัวเมียจะมีขนาดตัวใหญ่กว่า โดยลูกควายที่คลอดออกมา จะอยู่ติดกับแม่ของตัวเองเป็นคู่ ๆ
การบริการจัดการโรงเรือนสำหรับควายเกรดพัฒนา
การจัดการโรงเรือนสำหรับให้ควายนอนในเวลากลางคืน จะมีการกางมุ้งเพื่อให้ยุงไม่เข้ามากัด ใช้แสลนกาง และมีเบาะรองนอนสำหรับควาย โดยจะให้เฉพาะควายที่มีตัวใหญ่และน้ำหนักเยอะ เพื่อป้องกันผิวพรรณไม่ให้ถลอกและเป็นแผล การทำความสะอาดโรงเรือนจะทำทุกวันในช่วงเช้าและเย็น โดยจะทำความสะอาดหลังจากที่ควายออกไปพักในเวลาเช้า
ใน 1 โรงเรือน สามารถให้ควายนอนได้ประมาณ 6 – 7 ตัว โดยจะไม่ให้แออัดจนเกิดไป เพราะจะทำให้ควายเครียดได้ การกางมุ้งสำหรับควายเป็นขั้นตอนที่สำคัญ โดยจะมีการรมควันก่อนที่ควายจะเข้ามาในคอก หากควายโดนยุงกัดจะทำให้ควายนอนไม่หลับและเป็นโรคทำให้สุขภาพไม่ดี ซึ่งหากควายมีสุขภาพที่ดี จะส่งผลให้โตไว และขายได้ราคาดีมากขึ้น
อุปสรรค์ที่พบเจอมีอะไรบ้าง ?
อุปสรรค์ที่พบเจอก่อนจะประสบความสำเร็จจนทุกวันนี้ เริ่มต้นจากการเพาะเลี้ยงกบที่สูญเสียลูกอ๊อดที่ทดลองเลี้ยงไปประมาณเกือบล้านตัว ท้อแท้และเสียใจมาก จึงตัดสินใจเข้าไปขอความรู้จากฟาร์มใกล้เคียง ซึ่งทางฟาร์มให้กำลังใจและช่วยน้องกาฟิวส์สู้จนประสบความสำเร็จ
แนวความคิดในการไม่ยอมแพ้ของน้องกาฟิวส์คือ การสู้อย่างไม่ยอมแพ้ และกล้าคิดกล้าทำ ถ้าเราไม่สู้เราจะไม่สามารถมีอย่างคนอื่น การที่เราจะสำเร็จได้ต้องสู้เพื่อให้ประสบความสำเร็จ อาจจะมีการได้รับคำติชมจากคนรอบข้างบ้างเนื่องจากอายุยังน้อย และขาดประสบการณ์ แต่น้องกาฟิวส์ก็ไม่ย่อท้อ กำลังใจสำคัญที่สุดคือคนในบ้าน และกำลังใจจากตัวเอง จึงทำให้ประสบความสำเร็จจนทุกวันนี้
ชีวิตในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง ?
ทุกวันนี้น้องกาฟิวส์มีความสุขในการทำการเกษตร มีอาชีพเลี้ยงครอบครัว มีรายได้ ทำให้คนในครอบครัวมีความสุข โดยเฉพาะคนในครอบครัวที่รู้สึกยินดีและภูมิใจที่น้องกาฟิวส์เลือกทำการเกษตร และคนในครอบครัวทุกคนช่วยเหลือกันทำให้ที่ฟาร์มประสบความสำเร็จ
น้องกาฟิวส์ภูมิใจกับการทำเกษตรในทุกวันนี้มาก เพราะเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัว และยังสามารถเผื่อแผ่ไปยังคนอื่นทำให้มีอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ เช่นคนที่มาซื้อลูกปลาไปจำหน่าย น้องกาฟิวส์จะให้ความรู้ด้วยความจริงใจ หากนำพันธุ์ปลาไปเลี้ยงแล้วประสบความสำเร็จ ก็จะได้กลับมาซื้อที่ฟาร์มอีก
แรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต ของน้องกาฟิวส์คือการสู้ รวมทั้งต้องขยันและประหยัด จะไม่ใช้เงินฟุ่มเฟือย แต่ต้องอยู่ในทางสายกลาง หาความความสุขให้ตัวเองบ้าง
การต่อยอดในอนาคต ?
ในอนาคตที่ฟาร์มจะมีการต่อยอดเพิ่มมากขึ้นโดยการเลี้ยงปลาเนื้อให้เยอะขึ้น โดยเฉพาะปลานิลที่มีลูกค้าสอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมาก และการพัฒนาสายพันธุ์ปลาชะโอนให้ประสบความสำเร็จ
คำแนะนำในการทำการตลาด
ให้เริ่มต้นจากการทำโปรไฟล์เพื่อสร้างตัวตน ว่าเรามีสินค้าอะไรจำหน่าย โดยเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ก่อน จะไม่ทำเยอะเพราะกลัวว่าจะไม่มีที่ขาย และทำสินค้าให้ดี มีคุณภาพ
เทคนิคการสร้างตัวตนเพื่อนำสินค้าไปขาย ?
เริ่มต้นจากโซเชียลในเฟสบุค โดยเริ่มสร้างโปรไฟล์ จากการเลี้ยงปลา เพื่อให้ทราบว่าที่ฟาร์มมีอะไรบ้าง โดยเน้นลงโซเชียลเป็นประจำเพื่อให้คนเห็นว่ามีสินค้าจำหน่ายจริง และมีลูกค้ามารีวิวสินค้า เป็นการบอกต่อกันไปเรื่อย ๆ รวมถึงทำป้ายโฆษณาตามข้างทาง เพื่อเป็นการขยายกลุ่มตลาด แต่ที่สำคัญคือสินค้าต้องมีคุณภาพและราคาไม่แพง โดยถือคติ ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน และปัจจุบันมีฟาร์มปลาจำหน่ายจำนวนมากหากจำหน่ายสินค้าที่แพงและไม่มีคุณภาพ ลูกค้าก็จะไม่กลับมาซื้อ ซึ่งปัจจุบันที่ฟาร์มค่อนข้างมีชื่อเสียงในเรื่องของคุณภาพ ในชื่อของ “กาฟิวส์ พันธุ์ปลา อุทัยธานี”
หากเพื่อน ๆ เกษตรสัญจร สนใจการทำเกษตรแบบผสมผสานทั้งสายพันธุ์ปลาน้ำจืด การเลี้ยงกบ และการเลี้ยงควายสายพันธุ์พัฒนา สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับน้องกาฟิวส์ได้ที่หมายเลข 061-3613477 ได้เลยครับ
………………………………………
เกษตรสัญจร สื่อเกษตรยุคใหม่ แหล่งข้อมูลสาระที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
รวมเรื่องเด็ด เกษตรกูรู ศูนย์รวมความรู้และเทคนิคการทำเกษตร
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเกษตรเพิ่มเติมได้ที่ :
𝗙𝗮𝗰𝗲𝗯𝗼𝗼𝗸: เกษตรสัญจร
𝗟𝗜𝗡𝗘 𝗢𝗳𝗳𝗶𝗰𝗶𝗮𝗹: @kasetsanjorn
𝗕𝗹𝗼𝗰𝗸𝗱𝗶𝘁: blockdit.com/kasetsanjorn/
𝗬𝗼𝘂𝗧𝘂𝗯𝗲: youtube.com/c/Kasetsanjorn
𝗧𝗶𝗸𝗧𝗼𝗸: tiktok.com/@kasetsanjorn
𝗧𝘄𝗶𝘁𝘁𝗲𝗿: twitter.com/kasetsanjorn/
𝗪𝗲𝗯𝘀𝗶𝘁𝗲: kasetsanjorn.com