ไผ่ซางหม่น ปลูกครั้งเดียว สามารถเก็บผลผลิตได้ถึงชั่วลูกชั่วหลาน
พี่อุุดร สังข์วรรณะ ผู้ริเริ่มปลูกไผ่ซางหม่นในพื้นที่ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี บนพื้นที่เครือข่ายกว่า 3,000 ไร่ พี่อุดรปลูกไผ่ซางหม่นมา 5 – 9 ปี และมีไผ่ซางหม่นรุ่นใหม่ ๆ ที่ปลูกแซมขึ้นมาเรื่อย ๆ
ข้อดีของไผ่ซางหม่นที่แตกต่างจากไผ่ชนิดอื่นคือ จะมีลำตรง แขนงน้อย สามารถแปรรูปได้หลากหลายกว่าไม้ไผ่ชนิดอื่น ๆ สามารถนำไปทำไม้ตะเกียบ ไม้เสียบลูกชิ้น ตลาดจะกว้างกว่า และอายุลำไผ่ที่หลังจากออกหน่อแล้วสามารถนำมาใช้งานได้คือ ระยะเวลาแค่ 2 ปี
ตลาดของไผ่ซางหม่น ปัจจุบันมีความต้องการในหลายกลุ่ม เช่นในกลุ่มไม้ตะเกียบ ไม้เสียบลูกชิ้น ไม้จิ้มฟัน จะเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง และปัจจุบันกลุ่มหลักอีกกลุ่มคืองานโครงสร้างอาคารไม้ไผ่ จะนำไม้ไผ่ไปทำตัวโครงสร้างอาคาร และกระแสการสร้างบ้านไม้ไผ่กำลังมาแรงประกอบกับเทคโนโลยีในการอัดน้ำยาทำให้ยืดอายุการใช้งานของไผ่ได้นานขึ้น ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ต้องการของตลาดมากทำให้ผลิตไม่เพียงพอ
การปลูกไผ่ซางหม่นปลูกไม่ยาก แต่ต้องการการดูแลเริ่มต้นในช่วง 2 เดือนแรก คือการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ไผ่ซางหม่นมีลำต้นตั้งต้นได้ เมื่อมีการแตกหน่อ 1 ลำ หรือมีการแตกใบ ถือว่าการปลูกประสบผลสำเร็จต้นไผ่รอด 100 เปอร์เซนต์
การปลูกไผ่ซางหม่นหลังจากปลูก 1 ครั้งสามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดไป การปลูกไผ่ซางหม่นจะใช้ระยะเวลาปลูก 4 – 5 ปี ถึงจะเริ่มตัดขายได้ ต้นไผ่จะโตได้ขนาด 3 นิ้วขึ้นไป และหลังจาก 4 – 5 ปี แล้ว จะสามารถตัดไผ่ไปขายได้ทุกปี สาเหตุที่ต้องเว้นระยะไผ่ใน 4 ปีแรกเนื่องจากไผ่ยังมีลำเล็กและอายุไผ่ยังไม่ได้ จึงจำเป็นต้องรอให้ไผ่ได้ขนาด 2 – 3 ปี และรอให้ลำไผ่แก่ใช้เวลาอีก 2 ปี รวมเป็น 4 – 5 ปี และหลังจากนี้ทุกปีไผ่จะออกหน่อมาใหม่ และจะเริ่มทยอยตัดไผ่ลำแก่ที่มีอายุ 2 ปี ไปจำหน่ายได้ตลอด การปลูกไผ่ซางหม่นหากมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี สามารถลดระยะเวลาในการปลูกเหลือแค่ 3 ปี และลำต้นไผ่ใหญ่ได้สูงสุดถึง 6 นิ้ว
ช่วงแรกในการปลูกไผ่ เราสามารถปลูกพืชแซมในช่องว่างระหว่างร่องไผ่ เช่นปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง ฟักทอง ระหว่างแปลง ตามร่องไผ่และโคนไผ่ได้ เพื่อเป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดินตรงนั้นในระยะ 1 – 2 ปีแรก รายได้ในช่วง 1 – 2 ปีแรกจึงมาจากการปลูกพืชแซม แต่ไผ่ซางหม่นจะเริ่มให้รายได้ในปีที่ 2 – 3 ซึ่งปีที่ 3 จะได้รายได้จากการขยายพันธุ์ เมื่อไผ่เริ่มโตจะเริ่มได้ผลผลิตจากลำไผ่อย่างต่อเนื่อง
วิธีการดูลำไผ่ที่พร้อมตัดขาย จะสามารถดูได้จากสีของลำไผ่หากเป็นลำใหม่จะมีสีขาวนวล การตัดลำไผ่ขายจะเลือกตัดจากลำที่แก่ก่อน โดยจะมีสีเขียวเข้มและมีตาหน่อ
การปลูกไผ่ต้องเว้นระยะห่างอย่างไร ?
การเว้นระยะห่างในการปลูกไผ่จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นไผ่ซางหม่น เช่นภาคตะวันออกหรือภาคใต้ มีปริมาณน้ำฝนต่อปีสูง ควรปลูกระยะห่าง 6×6 เมตร เพราะจะมีการเจริญเติบโตที่ค่อนข้างเร็ว หากปลูกในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนค่อนข้างน้อย ควรปลูกในระยะถี่ลงมา เพื่อที่จะให้ลำไผ่เก็บความชื้นภายในแปลงไว้ ในพื้นที่แห้งแล้งควรปลูกในระยะ 4×4 เมตร
คนที่อยากปลูกไผ่ต้องเริ่มยังไง ?
สำหรับคนที่มีพื้นที่เยอะ และสนใจที่จะปลูกไผ่ซางหม่น สามารถปลูกไผ่เป็นแปลงโดยที่ไม่ต้องลงระบบน้ำ และปล่อยเป็นแปลงระยะยาวได้ แต่ผลผลิตที่ได้จะอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเรามีการจัดการที่ดี มีคนงานดูแลจะสามารถสร้างรายได้จากการปลูกไผ่ได้หลายช่องทางละมีรายได้มากขึ้น
การปลูกไผ่ซางหม่นต้องมีการดูว่าพื้นที่มีน้ำท่วมไหม ถ้าน้ำไม่ท่วมสามารถปรับพื้นที่เรียบได้เลย ซึ่งทางพี่อุดรมีทีมงานวางผังและปลูกไผ่ซางหม่น คิดราคาต้นละประมาณ 70 บาท โดยมีเครือข่ายปลูกไผ่อยู่ทั่วประเทศ
การลงทุนปลูกไผ่แต่ละไร่ต้องใช้เงินเท่าไหร่ ?
การลงทุนปลูกไผ่ครั้งแรก จะมีค่าไถที่ดินประมาณ 1,000 บาท/ไร่ ค่าต้นพันธุ์ประมาณต้นละ 35 บาท ถ้าใช้ 100 ต้นค่าต้นพันธุ์จะอยู่ที่ประมาณ 3,500 บาท และรวมค่าแรงปลูกกับค่าวางผังจะอยู่ที่ 7,000 บาท/ไร่
การวางระบบน้ำจะใช้เป็นท่อพีวีซีและท่อพีอีแยกหัวมินิสปริงเกอร์ ต้นทุนการวางระบบน้ำจะอยู่ที่ประมาณ 4,000 – 5,000 บาท แล้วแต่การเลือกเกรดท่อ ถ้ารวมการวางระบบน้ำแล้วต้นทุนทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 12,000 บาท
วิธีการขยายพันธ์ุไผ่ซางหม่น
การขยายพันธุ์ไผ่ซางหม่นเริ่มต้นด้วยการตัดยอดต้นไผ่ ในระยะที่เราสามารถใช้บันไดปีนได้สะดวก เมื่อตัดยอดแล้วต้นไผ่จะเริ่มแตกแขนงออกมาซ้าย ขวา จึงนำขุยมะพร้าวมาหุ้ม เมื่อเริ่มมีรากจึงสามารถตัดนำไปขายได้ โดยขายอยู่ที่กิ่งละประมาณ 25 บาท หากลงถุงจะอยู่ที่ราคาประมาณ 35 บาท หลังจากที่ตัดกิ่งที่ชำไว้แล้ว โคนต้นสามารถขุดมาขายได้ 1 เหง้า จำหน่ายที่ราคาต้นละประมาณ 100 บาท
ปลูกไผ่ซางหม่นกี่ปีถึงจะคืนทุน ?
การปลูกไผ่ซางหม่นแบบการปลูกปล่อยทิ้งโดยไม่มีการวางระบบน้ำ จะใช้ระยะเวลาประมาณ 6 – 7 ปีจึงจะคืนทุน แต่ถ้ามีการวางระบบน้ำและมีการปลูกพืชแซม จะใช้ระยะเวลาแค่ 1 ปี คืนทุน สิ่งสำคัญคือ ทุน ที่ดิน แรงงาน และการประกอบการ ถ้าสามารถทำได้ครบ 4 อย่างนี้ จะสามารถทำให้มีผลกำไรตอบแทนเข้ามาได้
ปลูกแล้วจะไปขายใครบ้าง ?
ปกติไผ่ซางหม่นจะขายตามขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางหรือเส้นรอบวง เช่นเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 นิ้ว จะจำหน่ายที่ราคา 30-60 บาท แล้วแต่เกรดของไม้ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ห่างไกล การขนส่งและการเข้าตัดต้นไผ่ลำบากอาจจะมีการลดหลั่นราคาลงมา
ตลาดของไผ่ซางหม่น จะมีผู้ซื้อที่ตระเวนหาซื้อไผ่อยู่แล้ว แต่ถ้าไม่มีสามารถติดต่อที่พี่อุดรได้ เนื่องจากพี่อุดรจะมีกลุ่มเครือข่ายที่รับซื้อลำไผ่อยู่แล้ว ส่วนการปลูกพืชแซมให้หาพืชที่นิยมปลูกในพื้นที่ เนื่องจากจะหาการตลาดได้ง่าย
การปลูกไผ่ซางหม่นมีตลาดรองรับชัดเจน เป็นตลาดที่จับต้องได้ ตลาดในอนาคตด้านเครื่องจักรการแปรรูปกำลังเป็นที่นิยมและสิ่งที่ขาดคือวัตถุดิบ ในอนาคตเมื่อมีคนปลูกมากขึ้นราคาย่อมลดต่ำลง ซึ่งเป็นกลไกของตลาด แต่พี่อุดรมองว่า ต่อไปถ้าซื้อไผ่ซางหม่นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางนิ้วละ 10 บาท จากชาวไร่ ทำให้ผู้ปลูกไผ่ซางหม่นอยู่ได้และธุรกิจอื่น ๆ สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้
ทุกอาชึพทกงานล้วนมีรายละเอียดและปัญหา สิ่งสำคัญคือเราต้องศึกษาหาผู้รู้จริง เข้าไปสอบถามหาข้อมูลให้ดี และต้องมีการรวมกลุ่ม เพื่อเป็นการต่อรองราคาให้ดีและเพิ่มความมั่นใจให้กับทึม หากเรามีการร่วมมือกันและเดินไปในทิศทางเดียวกัน หากมีการตัดราคากันจะทำให้ธุรกิจนั้นไปต่อไม่ได้ ประมาบการณืจะช่วยแก้ไขให้เราก้าวผ่านอุปสรรค์ไปได้
ความสุขในการทำการการเกษตรของพี่อุดรคือ ก่อนหน้านี้พี่อุดรทำงานในเมือง การทำงานมีภาวะเร่งรีบและมีความเสี่ยง แต่เมื่อพี่อุดรหันมาปลูกไผ่ ไม่มีภาวะเร่งรีบ ได้อยู่กับธรรมชาติ ใช้สารเคมีน้อยลง พี่อุดรมองว่าไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร ใช้ชีวิตด้วยความสบายใจ แล้วนำไผ่ซางหม่นมาแปรรูปสร้างรายได้ตามที่คิดและต้องการได้
หากสนใจต้นพันธุ์ไผ่ซางหม่นพี่อุดร มีจำหน่าย สามารถติดต่อได้ที่หมายเลข 092-6682054 ได้เลยครับ
………………………………………
เกษตรสัญจร สื่อเกษตรยุคใหม่ แหล่งข้อมูลสาระที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
รวมเรื่องเด็ด เกษตรกูรู ศูนย์รวมความรู้และเทคนิคการทำเกษตร
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเกษตรเพิ่มเติมได้ที่ :
𝗙𝗮𝗰𝗲𝗯𝗼𝗼𝗸: เกษตรสัญจร
𝗟𝗜𝗡𝗘 𝗢𝗳𝗳𝗶𝗰𝗶𝗮𝗹: @kasetsanjorn
𝗕𝗹𝗼𝗰𝗸𝗱𝗶𝘁: blockdit.com/kasetsanjorn/
𝗬𝗼𝘂𝗧𝘂𝗯𝗲: youtube.com/c/Kasetsanjorn
𝗧𝗶𝗸𝗧𝗼𝗸: tiktok.com/@kasetsanjorn
𝗧𝘄𝗶𝘁𝘁𝗲𝗿: twitter.com/kasetsanjorn/
𝗪𝗲𝗯𝘀𝗶𝘁𝗲: kasetsanjorn.com