ทำความรู้จัก “แหนแดง”
แหนแดง เป็นพืชตระกูลเฟิร์นชนิดลอยน้ำ เจริญเติบโตลอยอยู่บนผิวน้ำในที่ที่มีน้ำขังในเขตร้อนและเขตอบอุ่น อาศัยอยู่ทั่วไปบริเวณ น้ำนิ่ง เช่น คู หนอง บึง แหนแดงที่พบอยู่ทั่วโลกนั้นมีอยู่ 7 ชนิดด้วยกัน ซึ่งประเทศไทยมีอยู่เพียงชนิดเดียว คือ อะซอลล่า พินนาต้า (Azolla pinnata)
ซึ่งต้นแหนแดง ประกอบไปด้วย ลำต้น ราก และใบ แหนแดงมีกิ่งแยกจากลำต้น ใบของแหนแดงเกิดตามกิ่งเรียงสลับกันไป ใบแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือใบบนและใบล่าง มีขนาดใกล้เคียงกัน ใบล่างค่อนข้างโปร่งใส มีคลอโรฟิลล์น้อยมาก ใบบนเป็นสีเขียวมีคลอโรฟิลล์เป็นองค์ประกอบ
ประโยชน์ของ “แหนแดง”
- สามารถทดแทน หรือลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนลงได้
- เพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ทำให้ดินมีความอุดม สมบูรณ์มากขึ้น ปรับปรุงโครงสร้างดินดีขึ้นในระยะยาว 3. ใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์สำหรับพืชผักและไม้ผล
- ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมี ลดการดูดตรึง ฟอสเฟตของดิน
- ใช้เป็นแหล่งโปรตีนสำหรับเลี้ยงสัตว์ เช่น สัตว์ เคี้ยวเอื้องจำพวกวัว ควาย แพะ รวมทั้งหมู เป็ด ไก่ ปลา เป็นต้น
- ลดปริมาณวัชพืชในนาข้าว
- มีต้นทุนการผลิตต่ำ อีกทั้งยังเติบโตและขยายพันธุ์ ได้รวดเร็ว แม้เลี้ยงในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ
การขยายพันธุ์ “แหนแดง”
โดยการขยายพันธุ์ของแหนแดงมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือแบบอาศัยเพศ และแบบไม่อาศัยเพศ
- การขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ จะเกิดเมื่อแหนแดงอยู่ในระยะที่พร้อมจะผลิตสปอร์ มีการสร้างเซลล์สืบพันธุ์เป็นเพศผู้และเพศเมียแล้วมาผสมพันธุ์กัน โดยสปอร์จะแก่ในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงเจริญ เป็นต้นอ่อนแหนแดงที่มีโครโมโซมเป็น 2n (diploid)
- การขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ เมื่อแหนแดงเจริญเติบโตเต็มที่จะแตกกิ่งแขนงออกจากต้นแม่แบบสลับกัน เมื่อต้นแม่แก่จัดจะมีสีเขียวเข้ม แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็น สีน้ำตาล กิ่งแขนงย่อยจะหลุดออกมาเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ต่อไป หรืออีกวิธีหนึ่งทำได้โดยการตัดต้น แม่ออกเป็นกิ่งย่อย และส่วนที่ตัดออกมาจะสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ นอกจากนี้ในแปลงเลี้ยงแหนแดง สามารถทำได้โดยการใช้ไม้กวาดไม้ไผ่ หรือใช้ไม้แขนงตีเบาๆ เพื่อให้ต้นแหนแดงฉีกขาดออกจากต้นเดิม ทำให้การขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณได้รวดเร็ว
โดยการขยายพันธุ์ทั้ง 2 วิธีนี้สามารถเพิ่มปริมาณของแหนแดงเป็นสองเท่า ภายใน 3 – 5 วัน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสภาพแวดล้อม
จากข้อมูลตรงนี้ ก็จะเห็นได้ว่า ในขณะที่ปุ๋ยมีราคาแพง แหนแดงสามารถไปทดแทนปุ๋ยยูเรียได้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีของชาวเกษตรกรเลยก็ว่าได้ และหากคิดว่า “แหนแดง” คือตัวช่วยใหม่ที่ดี ก็ลองนำไปปรับใช้กับเหมาะพืชที่กำลังปลูกกันดูนะครับ หรือหากมีข้อสงสัยก็ลองติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 0 2579 7523 ได้เช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก : ก้าวไปด้วยกันกับกรมวิชาการเกษตร
https://www.opsmoac.go.th/pattani-article_prov-preview-402891791815
https://www.doa.go.th/ksp/attachment.php?aid=2984
………………………….
เกษตรสัญจร สื่อเกษตรยุคใหม่ แหล่งข้อมูลสาระที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
รวมเรื่องเด็ด เกษตรกูรู ศูนย์รวมความรู้และเทคนิคการทำเกษตร
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเกษตรเพิ่มเติมได้ที่ :
Facebook : เกษตรสัญจร
LINE Official: @kasetsanjorn
Blockdit: blockdit.com/kasetsanjorn/
YouTube : youtube.com/c/Kasetsanjorn
Twitter : twitter.com/kasetsanjorn/
Website : kasetsanjorn.com
#เกษตรสัญจร #สื่อเกษตรยุคใหม่ #ศูนย์รวมความรู้เพื่อเกษตรกร #แหนแดง #ปุ๋ยชีวภาพ #ปุ๋ยพืชแหนแดง