“สำหรับผมแล้วเกษตรกรเป็นอาชีพที่มีความสำคัญที่สุด เป็นอาชีพที่เลี้ยงคนในประเทศ เพราะประเทศไทยเราเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุด อาชีพเกษตรจึงเป็นอาชีพที่คนควรให้ความสำคัญ ควรส่งเสริมให้คนหันมาทำการเกษตรในแบบที่ถูกต้อง”
นี้คือคำพูดของคุณอภิวรรณ สุขพ่วง เกษตรกรคนรุ่นใหม่ ที่มีแนวความคิดแตกต่างไปจากคนรุ่นใหม่ทั่วไป โดยเขาให้ความสำคัญกับการสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อนคนอื่น พึ่งพาตนเองได้ และที่สำคัญคือเป็นที่พึ่งพาให้กับคนที่เขารักได้ด้วย และจากแนวคิดนี้ทำให้เขาตัดสินใจผันตนเองเข้าสู่การทำเกษตรโดยใช้หลักทฤษฎี 9 ขั้น สู่ความพอเพียง คือ พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น พอได้ทำบุญ พอได้ทำทาน พอได้เก็บรักษา พอได้ทำธุรกิจ และ พอเพียงด้วยการสร้างเครือข่าย มาเป็นพื้นฐานของชีวิต
ที่มาที่ไปและแรงบันดาลใจ
เคยมีโอกาสรับใช้ชาติ ในช่วงเวลาที่มีสงครามการเมือง เห็นถึงวิถีชีวิตที่วุ่นวาย เห็นว่าคนที่อยู่ในระบบทุนนิยมจริง ๆนั้นไม่ได้มีความสุขอย่างแท้จริง ตนเองตระหนักและไม่ประมาทต่อ 4 Crisis4 ได้แก่
- ภัยพิบัติ ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ภัยจากธรรมชาติ
- โรคระบาด จากสภาพแวดล้อมที่เป็นมลพิษ จากอาหารที่ถูกปลูกหรือผ่านขั้นตอนใช้สารเคมี
- ความขัดแย้ง
- จนในที่สุดเกิดความอดยาก
ตระหนักถึง 4 crisis จึงทำให้อยากจะทำเกษตรที่สามารถพึ่งพิง อยู่ได้ในพื้นที่ของตนเองสามารถสร้างอาหาร ที่อยู่อาศัยและความต้องการของมนุษย์อย่างเพียงพอ ไม่เฉพาะกับตนเองเท่านั้น แต่เป็นที่พึ่งพิงให้คนรอบข้างได้ด้วย
จุดเริ่มต้น และการเปลี่ยนแปลง
ตัดสินใจผันตัวเองมาเป็นเกษตรเต็มตัวแต่ตนเองไม่มีความรู้ด้านการเกษตรเลย มีต้นทุนเป็นพื้นที่ 25 ไร่ที่เป็นมรดกจากพ่อแม่ และหาองค์ความรู้แรกจากคุณตา คุณยาย ที่เคยทำอาชีพเป็นเกษตรมาก่อน ถามหาองค์ความรู้จากคุณพ่อที่เป็นครูเกษตร จึงพอจะมีความรู้เรื่องการเกษตรพื้นฐาน แต่ยังขาดแนวคิด เริ่มเดินทางไปศึกษากับโครงการตามพระราชดําริต่าง ๆ ให้มากที่สุด โดยมีโครงการที่ประทับใจคือ
โครงการศูนย์ศึกษาดินพัฒนา เขาชะงุ้ม เป็นจุดเปลี่ยนทำให้น้อมนำเอาแนวคิดและมีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช(ร.9)เป็นต้นแบบด้านการทำเกษตรและมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิต
บันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง สร้างคุณค่าให้ตน คืนสู่สังคม
ขั้นที่ 1 ทำให้พอกิน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการสร้างความมั่นคงให้กับตนเองและครอบครัว
ขั้นที่ 2 พอใช้ อย่างเครื่องมือเครื่องใช้ อันหมายถึงปัจจัยในการประกอบอาชีพ เช่น ตนประกอบอาชีพเกษตร จึงผลิตปุ๋ย ฮอร์โมน ใช้เอง รวมไปถึงการทำเครื่องอุปโภคใช้เอง ไม่ว่าจะเป็น สบู่ แชมพู เป็นต้น
ขั้นที่ 3 พออยู่ นั่นหมายถึงการมีพื้นที่เป็นของตนเอง
ขั้นที่ 4 พอร่มเย็น คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง
ขั้นที่ 5 ทำบุญ ซึ่งจะช่วยในด้านจิตใจ ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นคนรวยที่เลวได้
ขั้นที่ 6 ทาน คือการรู้จักให้ แบ่งปันทั้งในด้านอาหาร ทรัพย์ หรือแม้แต่องค์ความรู้ เพื่อเป็นวิทยาทาน
ขั้นที่ 7 การเก็บรักษา เพื่อสำรองไว้ในยามเกิดภัยพิบัติ แต่ทว่าช่วงเวลานี้ไม่เกิดเหตุการณ์ใด ๆ การเก็บรักษาจึงปรับเป็นการแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรที่ผลิตได้ กลายเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรายการของไร่สุขพ่วง อาทิ น้ำตาลอ้อย ชาหญ้านาง ทองม้วนกล้วย เป็นต้น
ขั้นที่ 8 ทำการตลาด ด้วยเพราะเป็นคนรุ่นใหม่ คุณอภิวรรษได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บวกกับเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ ใส่เรื่องราว สร้างสรรค์ คุณค่าให้เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ นำเทคโนโลยี สื่อสารสนเทศมาใช้ให้ทันโลกทันยุคสมัย การทำน้อยจึงได้มาก ดังที่พระองค์ท่านตรัสเรื่องการทำน้อยได้มาก ทำแบบคนจน แต่ได้มูลค่า ด้วยการแปรรูป
ขั้นที่ 9 สร้างเครือข่าย ไร่สุขพ่วงได้ก่อตั้งตนเองเป็นศูนย์การเรียนรู้อินทรีย์วิถีไทย (Earth Safe) โดยการนำสิ่งที่ตนเองรู้ในงานทั้งหมดที่ประสบผลสำเร็จ ถ่ายทอดสู่ผู้อื่น ซึ่งการกระทำเช่นนี้ส่งผลลดความเห็นแก่ตัว ผู้เข้ามาเรียนรู้ก็จะกลายเป็นเครือข่าย เชื่อมโยง แบ่งปัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน สร้างระบบเศรษฐกิจชุมชน เกิดการรวมกลุ่ม ร่วมสร้างเครือข่ายเข้มแข็ง มีอำนวจในการต่อรอง
ขั้นตอนวิธีลงมือทำจริง ทำอย่างไร
การออกแบบพื้นที่ชีวิตโดยใช้หลักการออกแบบภูมิสังคม ภูมิสถาปัตย์ และภูมิเศรษฐศาสตร์ ปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่มีความเหมาะสมในการทำการเกษตรแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งในชุมชน และปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมยามหน้าฝน มีการขุดสระน้ำและคลองไส้ไก่เพื่อรับน้ำฝนที่ตกมาในพื้นที่ทั้งหมดให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ นำดินที่เกิดจากการขุดสระน้ำมาถมเป็นพื้นที่สูงเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยและคอกสัตว์ สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีโดยการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างตามศาสตร์พระราชาและการปลูกไม้ 5 ระดับ นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์ใช้เกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน แก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในเขตพื้นที่ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน โดยมีทฤษฎีการจัดการพื้นที่ตามศาสตร์พระราชา แบ่งออกเป็น 4 ส่วนสำคัญ คือ
ส่วนที่ 1 พื้นที่รับน้ำได้แก่ คลองไส้ไก่และบ่อน้ำขนาดใหญ่ 4 บ่อเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรอุปโภคและบริโภคตลอดทั้งปี
ส่วนที่ 2 พื้นที่ป่าพื้นที่ป่าถูกจัดให้อยู่ในบริเวณพื้นที่สูงรอดพ้นจากภัยพิบัติน้ำท่วม ป่าแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ระดับแรกเรียกว่าป่าไม้ขนาดใหญ่อยู่ล้อมรอบพื้นที่เพื่อป้องกันลมพายุสารพิษและมลภาวะต่าง ๆ
ส่วนที่ 3 ต่อมาเป็นพื้นที่นาข้าว ทำหัวคันนาขนาดใหญ่สำหรับปลูกพืชผลป่าไม้ไม่เพียงแต่ทำหน้าอย่างเดียวบนหัวคันนายังมีกับข้าวไว้กินได้ตลอดปี
ส่วนที่ 4 ที่อยู่อาศัยและคอกสัตว์
ความภาคภูมิใจ
ภูมิใจที่สามารถดูแลและพึ่งพาตนเองได้ รอดพ้นจากความอดยาก
ภูมิใจที่สามารถเป็นที่พึ่งพิงของคนอื่นๆและชุมชนได้
คำคมหรือแนวคิดที่อยากจะส่งต่อให้เพื่อนเกษตรกรหรือ คนที่สนใจอยากจะทำเกษตร
“เกษตรควรหันมาทำเกษตรอินทรีย์ เลิกพึ่งพาสารเคมีไม่ว่าด้วยวิธีอะไรก็ตาม
และควรอนุรักษเกษตรวิถีไทยดั้งเดิมที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ”
เรียบเรียงโดย :ทีมงานเกษตรสัญจร