พี่แฟรงค์ เสริมศักดิ์ มะโนน้อม เจ้าของสวนเกษตรอินทรีย์บ้านไร่ เพชรบูรณ์ เกษตรกรที่ปลูกผักหวานป่า พี่แฟรงค์จบนิเทศศาตร์และเปลี่ยนอาชีพจากช่างภาพและช่างตัดต่อมาทำเกษตร โดยเลือกปลูกพืชที่ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บกินได้ตลอด นั้นก็คือผักหวานป่า
ก่อนจะมาทำสวนผักหวานป่าทำอะไรมาก่อน ?
พี่แฟรงค์จบนิเทศศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร และได้ไปทำงานเป็นช่างภาพและตัดต่อกราฟฟิค และที่บ้านมีพื้นที่สำหรับทำไร่อยู่จึงมองว่าในอนาคตหากพ่อแม่แก่ตัวไปจะทำไร่ไม่ไหว จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการคิดที่จะปลูกพืชที่สามารถปลูกครั้งเดียวและเก็บกินได้ชั่วลูกชั่วหลาน มีอายุยืนยาว โดยลงทุนครั้งเดียวและสามารถเก็บผลผลิตได้ในระยะยาว นั่นก็คือผักวานป่า
ก่อนตัดสินใจลาออกจากงานได้เตรียมตัวยังไงบ้าง ?
พี่แฟรงค์วางแผนปลูกผักหวานป่าก่อนที่จะลาออกจากงานไว้ล่วงหน้า 3 ปี โดยเริ่มต้นปลูกผักหวานป่าในพื้นที่ 3 ไร่ ควบคู่ไปกับการทำงานประจำ และส่งเงินมาให้พ่อแม่ช่วยดูแล ตัดหญ้า ใส่ปุ๋ย และก่อนที่จะออกจากงานประจำเป็นช่วงที่โควิดระบาดและผักหวานป่าปลูกได้ประมาณ 2ปีครึ่ง เริ่มจะทำยอดได้แล้ว จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาดูแลตกแต่งกิ่งและทำยอด จึงทำให้สามารถสร้างรายได้จากการปลูกผักหวานป่าทันที โดยที่ไม่เกิดช่องว่างในระหว่างการลาออกจากงาน
ในช่วงแรกเตรียมแปลงยังไงบ้าง ?
ตอนปลูกช่วงแรกที่แฟรงค์ปลูกในพื้นที่ 3 ไร่ จากต้นกล้า 2,400 ต้น โดยเริ่มต้นไถปรับพื้นที่ วางระบบน้ำ และลงต้นกล้า โดยใช้สแลนช่วยคลุมต้นกล้าเพื่อพรางแสงก่อนเนื่องจากยังไม่มีพืชพี่เลี้ยงจึงปลูกต้นกล้าผักหวานป่าพร้อมกับการปลูกพืชพี่เลี้ยงในวันเดียวกัน หลังจากนั้นจึงให้น้ำผ่านสายมินิสปริงเกอร์ซึ่งมีต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ ทุก ๆ 7 วัน และคอยแก้ปัญหาระบบน้ำไปเรื่อย ๆ จนเริ่มเห็นผลหลังจากปลูกไป 1 ปีต้นผักหวานป่าเริ่มโตมากขึ้น และสามารถเก็บยอดได้ในระยะเวลา 2ปีครึ่ง -3 ปี
การทำผักหวานป่านอกฤดูมีข้อดียังไง ?
ผักหวานป่านอกฤดูสามารถสร้างรายได้ให้กับเราได้ตลอดและยังสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน โดยพี่แฟรงค์จะจ้างให้คนมาช่วยดูแลตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ย ตัดหญ้า หรือจ้างมาเก็บยอดผักหวานป่า เป็นการสร้างรายได้และอาชีพเสริมให้กับคนในชุมชน
การขยายพันธุ์ผักหวานป่าทำได้ยังไงบ้าง ?
ผักหวานป่าสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการเเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง ซึ่งบางท่านอาจจะมองว่าการขยายพันธุ์ผักหวานป่าด้วยเมล็ดจะดีกว่าเพราะมีรากแก้วแต่ถ้าจากกิ่งตอนจะอายุไม่ยืน ไม่แข็งแรง
แต่พี่แฟรงค์มองว่าผักหวานป่าไม่ว่าจะปลูกด้วยกิ่งตอนหรือต้นกล้าจะอายุยืนเหมือนกัน เพราะการตายของผักหวานป่ามีอยู่ 2 สาเหตุ คือ
- หากระบบรากเสียจะทำให้ต้นผักหวานป่าตาย เช่น น้ำขัง น้ำท่วม น้ำแฉะ จะทำให้ยืนต้นต้าย
- มีการเก็บยอดเยอะจนเกินไปและไม่มีพืชพี่เลี้ยงทำให้ผักหวานตาย เนื่องจากการเก็บยอดตลอดเวลา จะทำให้ผักหวานนำสารจากลำต้นไปเลี้ยงจนไม่มีอาหารเหลือแล้ว และจะทำให้ยืนต้นตาย
เทคนิคการดูแลผักหวานป่าให้โตไว เก็บยอดได้ดี และมีคุณภาพ
สิ่งสำคัญในการปลูกผักหวานป่าคือการเลือกพื้นที่ปลูก ต้องเป็นพื้นที่ไม่มีน้ำท่วม น้ำขัง โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน จะเป็นช่วงที่เมล็ดพันธุ์ผักหวานป่าจะเริ่มสุก ในเดือน เมษายน-พฤษภาคม โดยจะเริ่มเพาะเมล็ดในช่วงนี้และปลูกได้ในเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม ซึ่งช่วงหน้าฝนเป็นช่วงที่พร้อมปลูก การปลูกไม่ควรมีต้นไม้บังเนื่องจากผักหวานป่าชอบแสงแดดในการเจริญเติบโต สิ่งสำคัญคือ หากเป็นพืนที่ชื้นแฉะ มีน้ำขัง จะเสี่ยงต่อการเป็นโรครากเน่าโคนเน่า พื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดจะเป็นพื้นแบบเปียกสลับแห้ง
การวางระบบน้ำในแปลงมีเทคนิคยังไง ?
ที่สวนจะใช้เครื่องยนต์ดีเซลในการสูบน้ำเพื่อดูแลต้นผักหวานในแปลง โดยจะรดน้ำทุก ๆ 7 วัน แต่หากมีฝนตกจะยืดระยะเวลาในการรดน้ำออกไปเพื่อเป็นการประหยัดต้นทุน
พืชพี่เลี้ยงคืออะไร ทำไมต้องมี
ผักหวานเป็นพืชประเภทอิงอาศัยหรือกาฝาก ระบบรากของผักหวานจะไปเกาะกับพืชใกล้เคียง และดูดอาหารจากพืชพี่เลี้ยงมาใช้สำหรับการเจริญเติบโต จึงควรเลือกปลูกพืชพี่เลี้ยงที่สามารถตรึงไนโตรเจนในดินได้ดี
ใครที่ปลูกพืชพี่เลี้ยงล่วงหน้าก่อนที่จะปลูกผักหวานป่า โอกาสที่ผักหวานป่าจะรอดมีเปอร์เซนต์สูงมาก โดยก่อนปลูกผักหวานป่าพี่แฟรงค์จะปลูกพืชพี่เลี้ยงจากต้นแคและมะขามเทศ
พืชพี่เลี้ยงที่แนะนำมีอะไรบ้าง ?
พืชพี่เลี้ยงที่แนะนำอันดับหนึ่งคือต้นแค เนื่องจากโตไวและสามารถให้ร่มกับต้นกล้าผักหวานได้ โดยปลูกเพียงแค่ 4-6 เดือนก็สามารถนำต้นผักหวานป่าไปปลูกได้แล้ว แต่ต้นแคเป็นต้นที่ไม้ที่อายุไม่ยืนจึงควรปลูกต้นมะขามเทศร่วมด้วย โดยเว้นระยะการปลูกต้นแคทุก 2×2 เมตร และมะขามเทศทุก 6×6 เมตร ซึ่งหากปลูกพืชพี่เลี้ยงล่วงหน้าก่อนที่จะปลูกต้นผักหวานจะมีเปอร์เซนต์ในการรอดของต้นผักหวานสูง
การปลูกต้นกล้าผักหวานจะปลูกในระยะ 1×2 เมตร โดย 1 แถวแรกจะปลูกทุก 1 เมตร และแถวถัดไปจะปลูกทุก 2 เมตร สลับกัน เพื่อให้สะดวกในการตัดหญ้าใส่ปุ๋ย และให้ง่ายต่อการเก็บยอดผักหวาน
หลังจากปลูกต้นแคซึ่งเป็นพืชพี่เลี้ยงได้ 1 ปีครึ่งจะตัดต้นแคออกให้เหลือแต่ต้นมะขามเทศ เพราะต้นแคจะมาบังร่มของผักหวาน ต้นมะขามเทศและมีระบบรากที่ดีและรากจะเดินทั่วพื้นที่ทำให้ต้นผักหวานป่าโตไว การดูแลต้นมะขามเทศให้หมั่นตัดแต่งกิ่งไม่ให้บังต้นผักหวานป่า และสายพันธุ์มะขามเทศที่แนะนำคือ มะขามเทศพันธุ์เพชรโนนไทย จะมีหนามน้อย รสชาติหวานมัน และสามารถเก็บฝักขายเป็นรายได้อีกหนึ่งช่องทาง
หากสนใจเทคนิคการปลูกผักหวานป่าและต้นพันธุ์ผักหวานป่า สามารถติดต่อได้ที่
หมายเลข : 088-878-8843
Facebook : สวนเกษตรอินทรีย์บ้านไร่ เพชรบูรณ์
………………………………………
เกษตรสัญจร สื่อเกษตรยุคใหม่ แหล่งข้อมูลสาระที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
รวมเรื่องเด็ด เกษตรกูรู ศูนย์รวมความรู้และเทคนิคการทำเกษตร
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเกษตรเพิ่มเติมได้ที่ :
𝗙𝗮𝗰𝗲𝗯𝗼𝗼𝗸: เกษตรสัญจร
𝗬𝗼𝘂𝗧𝘂𝗯𝗲: youtube.com/c/Kasetsanjorn
𝗧𝗶𝗸𝗧𝗼𝗸: tiktok.com/@kasetsanjorn
𝗦𝗵𝗼𝗽𝗲𝗲: shopee.co.th/kasetsanjorn
𝗟𝗜𝗡𝗘 𝗢𝗳𝗳𝗶𝗰𝗶𝗮𝗹: @kasetsanjorn
𝗕𝗹𝗼𝗰𝗸𝗱𝗶𝘁: blockdit.com/kasetsanjorn/
𝗧𝘄𝗶𝘁𝘁𝗲𝗿: twitter.com/kasetsanjorn/
𝗪𝗲𝗯𝘀𝗶𝘁𝗲: kasetsanjorn.com