หลุมพอเพียง เป็นแนวคิดแบบบูรณาการบริหารจัดการให้มีกินมีใช้แบบประหยัดทุนประหยัดเวลา ที่เรียกว่าหลุมพอเพียงก็คือ วิธีการบริหารจัดการสิ่งที่อยู่ในหลุมตามขนาดที่กำหนด และพืชทุกอย่างเกื้อกูลอันเอง จะมีวิธีการทำอย่างไร ไปดูกัน
เทคนิคการทำหลุมพอเพียง
- ขนาดหลุมพอเพียงควรมีขนาดกว้าง 80 – 100 เซนติเมตรลึกประมาณ 30 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุม 4 x 4 เมตร ถ้ามีพื้นที่ 1 ไร่ จะได้ 100 หลุม
- พืชที่ปลูกตามแนวทางของพระอาจารย์ 1 หลุมพอเพียง ประกอบด้วยพืช 4 ประเภท
– พืชพี่เลี้ยง เป็นไม้ที่ให้ร่มเงา เก็บน้ำ เก็บความชื้นโดยเฉพาะช่วงร้อนหรือหน้าแล้ง เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม ควรปลูกทางทิศตะวันตก เพราะช่วยบังแสงช่วงบ่ายที่อากาศร้อนจัด เป็นพี่เลี้ยงให้พืชที่ไม่ชอบแดดจัดมาก ได้กล้วยเครือแรกเมื่อปลูก 1 ปี ก็ตัดทิ้ง ปล่อยหน่อใหม่ให้ทำงาน
– พืชยืนต้น ประกอบด้วย ขนุน มะม่วง มะนาว กระท้อน เงาะ ทุเรียน มังคุด ยางพารา เป็นต้น ในหลุมหนึ่งควรเลือกปลูกแค่ประเภทเดียว
– พืชฉลาด เป็นไม้ข้ามปี ที่สามารถเอาตัวรอดได้ดี เก็บผลได้นานพอสมควร เช่น ชะอม ผักหวาน มะละกอ ผักติ้ว ผักเม็ก เริ่มเก็บกินได้ตั้งแต่ 1 เดือนไปเรื่อย ๆ
– พืชปัญญาอ่อน หรือ ไม้รายวัน เป็นไม้ล้มลุกปลูกง่าย ตายเร็ว ต้องคอยปลูกใหม่ ดูแลรดน้ำทุกวัน แต่เก็บผลได้เร็ว ได้ทุกวัน เช่น พริก มะเขือ กะเพรา โหระพา ตะไคร้ ข่า ฟักทอง แตงไทย แตงกวา ผักบุ้งจีน คะน้า เป็นต้น เริ่มเก็บกินได้ตั้งแต่ 15 วัน
วิธีการทำหลุมพอเพียง
- ขุดหลุมขนาดกว้าง 80 – 100 เซนติเมตรลึกประมาณ 30 เซนติเมตรลักษณะเป็นวงกลมหรือสี่เหลี่ยม
- ปลูกหญ้าแฝกล้อมรอบหลุม รากแฝกจะสาน เป็นร่างแหในแนวดิ่ง ช่วยยึดดินให้คงรูป เปรียบเสมือนกระถางธรรมชาติ
- ปลูกพืชทั้ง 4 ประเภท
การปลูกพืชแบบหลุมพอเพียงนี้ สามารถให้ผลิตผลกับเราตั้งแต่ระยะสั้นถึงระยะยาว อีกทั้งยังลดภาระการให้น้ำและลดต้นทุนในการปลูกซ้ำ พื้นที่ช่องว่างในหลุมยังใช้ประโยชน์ปลูกพืชผักช่วยคลุมพื้นแทนที่จะปล่อยให้วัชพืชขึ้น เลยทำให้ลดภาระในการกำจัดวัชพืช เรียกได้ว่าให้ผลตอบแทนทั้งรายวัน รายเดือน และรายปี