

การทำเกษตรแนวใหม่ “วิสาหกิจชุมชนแปรรูปปลาหมอ” อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี ถูกก่อตั้งโดย พี่วัชระ หินดี ประธานกลุ่ม ก่อนที่พี่วัชระจะเริ่มต้นเลี้ยง “ปลาหมอไทย” พี่วัชระทำงานบริษัทเกี่ยวกับโรงผลิตพลังงานไฟฟ้ามาก่อน แต่ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดไปต่างประเทศบ่อย ๆ พี่วัชระมองว่าไม่มีเวลาให้กับครอบครัว จึงได้มองหาอาชีพที่สามารถหาเงินได้และมีเวลาให้กับครอบครัวด้วย ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกจากกงาน ทางครอบครัวไม่ค่อยสนับสนุน แต่พี่วัชระก็สามารถพิสูจน์ให้ทุกคนเห็น ว่าการเลี้ยงปลาหมอเป็นอาชีพที่สามารถประสบความสำเร็จได้
ทำไมถึงเลือกเลี้ยงปลาหมอ ?


พี่วัชระมองว่าปลาหมอเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชนบทที่เจอมาตั้งแต่เด็ก และกลุ่มตลาดการเลี้ยงปลาหมอยังไม่ค่อยมีใครทำ จึงนำแนวคิดนี้มาทำการตลาดและแปรรูปปลาหมอขาย
ในช่วงแรกพี่วัชระไม่มีความรู้ในด้านการทำอาหารหรือแปรรูปอาหารเลย จึงเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่และศึกษาเรียนรู้ ใช้เวลาในการศึกษาประมาณ 1 ปี ในการลองผิดลองถูก ดูผลตอบรับของลูกค้าและนำมาปรับปรุง
เริ่มต้นเลี้ยงปลาหมอยังไง ?


ปลาหมอไทย ที่พี่วัชระเลี้ยงเป็นปลาหมอสายพันธุ์ชุมพร ในช่วงแรกพี่วัชระเริ่มต้นการเลี้ยงปลาหมอในกระชังบก เพื่อที่ทำให้ชาวบ้านรู้ว่าที่บนเขาสามารถเลี้ยงปลาได้ และนำปลาหมอมาแปรรูปให้เห็นว่าสามารถทำในครัวเรือนเล็ก ๆ ได้ เมื่อเริ่มประสบความสำเร็จจึงเริ่มมีคนสนใจและอยากมาเรียนรู้ด้วย พี่วัชระจึงสอนเรื่องการเลี้ยงปลาหมอ การแปรรูป ให้กับชาวบ้านในชุมชน
ปลาหมอใช้ระยะเวลาเลี้ยงกี่เดือน ?


ปลาหมอชุมพร ที่พี่วัชระเลี้ยง ใช้ระยะเวลา 3 เดือน จะสามารถนำมาจำหน่ายได้ น้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 5 ตัวต่อกิโลกรัม ปลาหมอที่เลี้ยงไว้สามารถจำหน่ายได้กิโลละ 80-150 บาท แต่ถ้านำปลาหมอไปแปรรูปขายจะสามารถจำหน่ายได้ที่กิโลกรัมละ 400- 3,000 บาท
แนวคิดในการเลี้ยงปลาในนาข้าวมาจากไหน ?


แนวคิดในการเลี้ยงปลาในนาข้าว พี่วัชระศึกษาจากในโซเชียล และเชื่อมโยงกับเกษตรในอำเภอ ในอำเภอจะมีการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ และพี่วัชระได้เลี้ยงปลาหมออยู่แล้ว จึงนำมาผสมผสานกัน การเลี้ยงปลาในระบบนี้เป็นการเกื้อกูลในระบบนิเวศ ให้ประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างข้าวกับปลา ข้าวจะได้รับประโยชน์จากขี้ปลา ข้าวดูดซึมสาารอาหารทำให้น้ำสะอาด และปลาไม่มีกลิ่นคาว
จุดเริ่มต้นในการแปรรูปปลาหมอ


ในตอนแรกพี่วัชระนำปลาหมอมาทำเป็นปลาหมอแดดเดียวทอดขายในงานวัด และเริ่มมองว่าปลาหมอสามารถนำมาแปรรูปและส่งขายต่างจังหวัดได้ จึงเริ่มต้นจากจุดนนี้ทำการแปรรูปปลาหมออกจำหน่าย
เมื่อพี่วัชระแปรรูปปลาหมอมาได้ช่วงนึง จึงเริ่มมองเห็นกลุ่มลูกค้าว่าทำไมถึงไม่นิยมบริโภคปลาน้ำจืด และพบสาเหตุว่าที่คนไม่นิยมบริโภคปลาน้ำจืดเนื่องจากกลัวก้าง และกลัวความคาวของปลา พี่วัชระจึงเริ่มศึกษาวิธีการเลี้ยงปลาในนาข้าวที่สามารถช่วยให้เนื้อปลาไม่คาว และแปรรูปปลาหมอโดยการใช้แหนบดึงก้างทุกชิ้นออกจากตัวปลา เพื่อทำให้ผู้บริโภคปลาหมอแดดเดียวของพี่วัชระไม่ต้องกลัวก้างอีกต่อไป
คนที่ไม่ชอบปลาชิมแล้วรู้สึกยังไง ?


พี่วัชระได้มีโอกาสนำปลาหมอแดดเดียวไปให้ผู้ที่ไม่ชอบทานปลาทดลองชิม และได้คำตอบว่าปลาหมอแดดเดียวของพี่วัชระเนื้อแน่นและไม่คาว
ในช่วงเริ่มต้นการเลี้ยงปลาหมอในนาข้าว พี่วัชระเริ่มคุยกับคนในชุมชนที่มีการแปรรูปข้าวไรซ์เบอร์รี่แบบอินทรีย์อยู่แล้ว พี่วัชระมองว่าข้าวไรซ์เบอร์รี่มีจุดเด่นจึงนำการเลี้ยงปลาหมอในนาข้าวที่มีจุดเด่นเหมือนกันมาคุยกันว่าการเลี้ยงปลาหมอในนาข้าวไรซ์เบอร์รี่จะมีการเกื้อกูลกัน ไม่ต้องใช้ปุ๋ย ใช่สารเคมี จึงตกลงกันและทำแปลงนาสาธิตขึ้นมา 1 แปลง
การเลี้ยงปลาในนาข้าวต้องเตรียมอะไรบ้าง ?


ขั้นตอนแรกคือการออกแบบแปลงนา ว่าจะทำออกมาในรูปแบบไหน เมื่อออกแบบเสร็จจะเริ่มวางแผนการทำที่คลุมกันนกกันศัตรูที่จะมาทำลายข้าวและปลา หลังจากปลูกข้าวเสร็จจะสามารถนำข้าวไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อะไร
การจัดการพื้นที่การเลี้ยงปลาในนาข้าว ในแปลงสาธิตพื้นที่ 1 งาน จะมีการปลูกข้าวไว้ 1 แปลง และใช้รถมาขุดเป็นร่องลึกประมาณ 1.5 เมตร – 2 เมต รอบนาข้าว และเติมน้ำให้เต็มเพื่อกักเก็บน้ำมาใช้ในเวลาหน้าแล้ง สามารถใช้น้ำในร่องน้ำดูแลข้าวได้


ร่องน้ำที่ขุดไว้จะปล่อยปลาหมอลงไป ช่วงเวลาที่ปล่อยน้ำลงไปในนาข้าว ปลาหมอจะสามารถว่ายน้ำไปหากินในนาข้าว เพื่อช่วยกินแมลงศัตรูที่จะมาทำลายข้าว


การป้องกันด้านนอกแปลงจะใช้ตาข่ายล้อมรอบเพื่อกันงูหรือสัตว์เลื้อยคลานที่จะมากินปลาตัวเล็ก ๆ ที่พึ่งปล่อย ด้านบนแปลงข้าวจะมุงตาข่ายเพื่อป้องกันนกที่จะมากินเมล็ดข้าว


การปล่อยปลาและปลูกข้าวต้องทำตอนไหน ?


การปล่อยปลาและปลูกข้าวต้องทำพร้อมกัน ในแปลงสาธิตจะสามารถปล่อยลูกปลาหมอได้ 2,000 ตัว เมื่อเวลาข้าวสามารถเกี่ยวได้จะครบระยะเวลาในการจับปลาพอดี โดยข้าวจะใช้ระยะเวลาปลูกประมาณ 4 เดือน ปลาหมอจะใช้ระยะเวลาเจริญเติบโตประมาณ 5 เดือน


เมื่อครบระยะเวลา 4 เดือน หลังจากที่เกี่ยวข้าวแล้ว จะปล่อยน้ำในร่องที่เลี้ยงปลาหมอเข้าสู่นาข้าว ซังข้าวที่เกี่ยวทิ้งไว้จะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยไปในตัว และปลาหมอสามารถกินซังข้าวได้
หลังจากทำแปลงทดลองแล้วพี่วัชระพึงพอใจในระดับนึง และมองว่าจะทำการขยายแปลงเพิ่ม ข้าวที่ปลูกไว้พี่วัชระจะนำไปเป็นเมล็ดพันธุ์และนำไปขยายแปลงนาของชาวบ้านเพิ่ม
ตั้งแต่เริ่มต้นทำจนปัจจุบันพี่วัชระมองว่า ความแตกต่างระหว่าง 4 ปีที่แล้วจนปัจจุบัน พี่วัชระเริ่มมองถึงการเน้นพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและปลอดภัยกับผู้บริโภคทุกคน


การกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านของพี่วัชระ มีความสุขแตกต่างจากการทำงานที่บริษัทจากหน้ามือเป็นหลังมือ พี่วัชระทำงานเลี้ยงปลาหมอในนาข้าวด้วยความรักและความอยากทำ ผลงานที่ได้มาจะมีความสุขในตัวเอง
พี่วัชระมองว่าการจะสร้างแบรนด์ต้องสร้างตัวตนนำผลิตภัณฑ์ก่อน โดยการสร้างตัวตนให้คนรู้จักเพื่อที่จะได้รับออเดอร์มากขึ้นและนำมาขยายกำลังผลิต การสร้างตัวตนของพี่วัชระคือการทำให้สินค้าเป็นที่รู้จัก มีจุดเด่นอย่างไร มาจากไหน และมีอะไรให้กับลูกค้าบ้าง
ในอนาคตพี่วัชระวางแผนว่าจะสามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ในชุมชมเพิ่มมากขึ้น เช่นการพัฒนาสินค้าชนบทอีสาน อาหารพื้นบ้านและจะทำคิดฮอดข้าวผักปลาในอนาคต
ข้อคิดในการทำการเกษตรของพี่วัชระคือ การทำเกษตรไม่จำเป็นต้องทำเยอะ ให้พยายามทำจุดแข็งให้เกิดขึ้นและสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ให้มีจุดเด่นจำให้ประสบความสำเร็จได้
………………………………………
เกษตรสัญจร สื่อเกษตรยุคใหม่ แหล่งข้อมูลสาระที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
รวมเรื่องเด็ด เกษตรกูรู ศูนย์รวมความรู้และเทคนิคการทำเกษตร
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเกษตรเพิ่มเติมได้ที่ :
𝗙𝗮𝗰𝗲𝗯𝗼𝗼𝗸: เกษตรสัญจร
𝗟𝗜𝗡𝗘 𝗢𝗳𝗳𝗶𝗰𝗶𝗮𝗹: @kasetsanjorn
𝗕𝗹𝗼𝗰𝗸𝗱𝗶𝘁: blockdit.com/kasetsanjorn/
𝗬𝗼𝘂𝗧𝘂𝗯𝗲: youtube.com/c/Kasetsanjorn
𝗧𝗶𝗸𝗧𝗼𝗸: tiktok.com/@kasetsanjorn
𝗧𝘄𝗶𝘁𝘁𝗲𝗿: twitter.com/kasetsanjorn/
𝗪𝗲𝗯𝘀𝗶𝘁𝗲: kasetsanjorn.com