เบิร์ด เจ้าของสวนลุงเบิร์ด จ.ชัยนาท เคยเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่ประเทศอิสราเอล โดยทั้งเรียนและทำงานไปด้วย ทำให้ได้ความรู้ แนวคิดในการทำเกษตร การตลาด และเทคโนโลยีทางด้านการเกษตรของประเทศอิสราเอล หลังจากเรียนจบแล้วได้มารับราชการทางด้านเกษตรและตัดสินใจลาออกจากงานกลับมาทำสวนอีกครั้ง โดยใช้หลักการทำเกษตรแบบประเทศอิสราเอล
จุดเริ่มต้นในการทำสวนลุงเบิร์ด


ก่อนที่จะมาทำสวนลุงเบิร์ด เคยเป็นพนักงานราชการอยู่ที่ จ.เพชรบูรณ์ แต่รู้สึกว่าไกลบ้านและประกอบกับพ่อกับแม่เริ่มทำไร่ที่บ้านไม่ไหว จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำกลับมาทำเกษตรที่บ้าน
การไปฝึกงานที่อิสราเอลมีขั้นตอนยังไงบ้าง ?
หลังจากที่จบ ม.6 เบิร์ดได้ตัดสินใจเรียนสายเกษตร ซึ่งเป็นสาขาพืชศาตร์และจะมีหลักสูตรทวิภาคีระหว่างประเทศ และเริ่มใจใจประเทศอิสราเอลจึงเริ่มศึกษาว่าประเทศอิสราเอลมีความก้าวหน้าทางการเกษตร จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนักเรียนทวิภาคีระหว่างประเทศ ไทย-อิสราเอล
ฝึกงานที่อิสราเอลต้องทำอะไรบ้าง ?


นักศึกษาที่ไปฝึกงานที่ประเทศอิสราเอลต้องเรียนไปด้วยและทำงานไปด้วย โดยเจ้าของฟาร์มจะให้โปรเจคงานเพื่อมาศึกษาทดลอง โดยครั้งแรกได้ไปอยู่ในฟาร์มปลูกพริกหวาน และได้โปรเจคในการเปรียบเทียบสายพันธุ์ของพริกหวาน และโปรเจคการเปรียบระหว่างการปลูก โดยอยู่ตั้งแต่พริกหวานเริ่มปลูกมีความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร จนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต และรื้อแปลงเตรียมลงปลูกใหม่ ใช้เวลาเรียนรู้ที่แปลงพริกหวานเกือบปี จึงได้เห็นกระบวนการทั้งหมด
นอกจากการทำเกษตรแล้วที่อิสราเอลสอนอะไรบ้าง ?


ที่อิสราเอลจะสอนการตลาด เทคโนโลยีการเกษตร การใช้เครื่องมือ เครื่องยนต์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในฟาร์ม โดยจะสอนให้เรียนรู้และเข้าใจทั้งหมด
การทำงานที่อิสราเอลมีตารางเวลายังไงบ้าง ?
ที่อิสราเอลจะเริ่มทำงานตั้งแต่ตี 4ครึ่ง ในช่วงฤดูร้อน และจะพักทำงานในช่วง 11 โมง และจะทำงานอีกครั้งในช่วงเวลาบ่ายสองถึงช่วงเวลา 2 ทุ่ม เพราะในช่วงฤดูร้อนตอนกลางวันจะไม่สามารถออกบ้านได้ เนื่องจากมีอุณภูมิสูงถึง 45 องศา
เทคโนโลยีในการทำเกษตรที่อิสราเอลเป็นยังไงบ้าง ?


ที่อิสราเอลมีเทคโนโลยีในการทำเกษตรที่ค่อนข้างทันสมัย เและมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีและครบวงจรตั้งแต่เริ่มปลูก ด้วยพื้นฐานที่ประเทศอิสราเอลเป็นทะเลทรายจึงมีการคิดค้นระบบน้ำหยดขึ้นมาสำหรับการให้น้ำแก่พืชให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และจะผสมปุ๋ยผ่านระบบน้ำหยดโดยการสั่งงานผ่านทางโทรศัพท์และตู้ควบคุมสำหรับการตั้งเวลาอัตโนมัติ และมีระบบการจัดการฟาร์มที่เป็นระเบียบ
ที่อิสราเอลจัดการโรคพืชยังไง ?


การจัดการแปลงที่อิสราเอลจะทำเป็นฟาร์มแบบปิด หากแปลงไหนที่มีโรคระบาดจะรีบจัดการไม่ให้ระบาดไปที่แปลงอื่น โดยนักวิชาการจะคอยไปดูแลที่แปลงหากแปลงไหนมีการระบาดหนักจะต้องรีบทำการกำจัดทั้งแปลง และเวลาที่เก็บผลผลิตจะมีตาข่ายคลุมเพื่อป้องกันแมลงวันทองเจาะผลผลิตทำให้เกิดความเสียหาย และป้องกันแมลงวันทองติดไปยังประเทศปลายทางที่ส่งออกผลผลิต และมีการทดลองนำแมลงวันทองตัวผู้มาฉายรังสีและขึ้นเครื่องบินปล่อยลงมาเพื่อให้แมลงวันทองตัวผู้ไปผสมพันธุ์กับแมลงวันทองตัวเมียเพื่อทำให้ไข่ฝ่อและไม่สามารถขยายพันธุ์ได้
ที่อิสราเอลมีช่วงที่พืชราคาตกต่ำมั้ย ?
ที่อิสราเอลจะมีบางช่วงที่ผลผลิตราคาตกต่ำ เช่นพริกหวานถ้าราคาตกต่ำ เกษตรกรจะปล่อยให้พริกหวานสุกถึง 80 เปอร์เซนต์ เพื่อรอให้ราคาพริกหวานขยับขึ้น ถ้าราคาดีมีความต้องการสูงก็จะกลับมาเก็บพริกหวานต่ออีกครั้ง แต่ถ้าราคาไม่ดีก็จะค่อย ๆ ทยอยเก็บพริกหวานที่สุกขายไปเรื่อย ๆ
ที่อิสราเอลมีมาตรฐานการส่งออกยังไงบ้าง ?
การทำเกษตรที่อิสราเอลจะเน้นคุณภาพให้ได้มาตรฐานส่งออก โดยมีนักวิชาการคอยคุมแต่ละแปลงไม่ให้สารเคมีเกินมาตรฐาน และมีผลผลิตที่มีคุณภาพ
ข้อเด่นของการทำเกษตรที่อิสราเอลมีอะไรบ้าง ?


ที่อิสราเอลจะแบ่งการทำเกษตรเป็นโซนชัดเจน เช่น ภาคใต้จะปลูกผลไม้เขตร้อน อย่างเช่น พริกหวาน อินทผลัม ส่วนภาคเหนือจะเป็นภาคที่อากาศดี จะปลูกเชอร์รี่ องุ่น ทำให้ปริมาณผลผลิตไม่ล้นตลาดและไม่ค่อยเกิดปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ
รายได้ต่อเดือนในการทำเกษตรที่ประเทศอิสราเอล
รายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 40,000-50,000 บาท แล้วแต่ว่าทำงานเยอะขนาดไหน ซึ่งบางคนอาจจะได้มากถึง 80,000 บาท ขึ้นอยู่กับความขยันของแต่ละคน
ทำไมคนไทยถึงชอบไปทำงานเกษตรที่อิสราเอล
ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของรายได้ที่มีรายได้ค่อนข้างสูง และพื้นฐานของคนไทยทำเกษตรอยู่แล้ว จึงมองว่างานจะไม่หนักจนเกินไปเมื่อเทียบกับค่าแรงที่ได้รับ ส่วนความเป็นอยู่ค่อนข้างสะดวกสบายและค่าครองชีพถูก
คนที่จะทำเกษตรที่อิสราเอลต้องมีการอบรมความรู้มั้ย ?
คนที่จะเป็นเกษตรกรที่อิสราเอล ทุกคนต้องมีความรู้ทั้งการขับแทร็คเตอร์ การใช้สารเคมี ภาษาที่จะสามารถเจรจาการค้า เนื่องจากอิสราเอลจะทำการส่งออกเอง จึงต้องมีความพร้อมและหมั่นอบรมความรู้อยู่เสมอ
สิ่งที่ได้จากการทำเกษตรที่อิสราเอลแล้วนำมาประยุกต์ใช้กับสวนที่เมืองไทย


สิ่งแรกที่นำมาใช้คือ ระบบการบริหารจัดการฟาร์ม โดยนำเรื่องความสะอาด ความเป็นระเบียบนำมาใช้ที่แปลง ซึ่งฝรั่งที่สวนทุกต้นจะมีขนาดและทรงพุ่มเท่ากันทั้งหมด โดยใช้วิธีการตัดแต่งกิ่งระหว่างต้นและระหว่างแถว ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และนำระบบการจัดการน้ำมาใช้ซึ่งที่อิสราเอลเป็นระบบน้ำหยดแต่ที่สวนลุงเบิร์ดจะนำมาปรับใช้เป็นมินิสปริงเกอร์ เพื่อจ่ายน้ำให้กับต้นพืชในรัศมีที่พืชต้องการ จะไม่จ่ายน้ำทั่วไป และนำความรู้ทางด้านวิชาการเรื่องการใช้ปุ๋ยมาปรับปรุงรสชาติของฝรั่งให้มีรสชาติดีกว่าฝรั่งทั่วไป และเพิ่มความแตกต่าง
แนวทางการทำตลาด


การมองหากลุ่มลูกค้า จะเน้นกลุ่มลูกค้าที่มองหาฝรั่งที่ปลอดภัย ที่สวนจึงปลูกฝรั่งให้ได้มาตรฐาน GAP และเริ่มทำตลาดจากกลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพในเมือง โดยใช้เทคนิคเข้าไปในสำนักงานและเกิดการบอกต่อกันไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มโรงพยาบาลที่รักสุขภาพ ซึ่งครั้งแรกจะส่งสินค้าเองหลังจากที่เริ่มเป็นที่รู้จักและมีลูกค้าประจำแล้วจะไปขายอยู่ที่ตลาดเกษตรกร เพื่อให้ลูกค้าวิ่งเข้ามา
สำหรับคนทำงานประจำที่อยากทำเกษตรต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง ?
คนที่ทำงานประจำและอยากมาทำเกษตรต้องเริ่มสร้างไว้ก่อน หากมีพื้นที่บริเวณบ้านเกิดจะดีกว่าไปซื้อที่ในบริเวณอื่น หากไม่ได้กลับมาดูแลก็สามารถฝากพ่อแม่ดูแลก่อนได้ โดยเริ่มปลูก 1-2 ต้นก่อนเพื่อศึกษาให้เข้าใจ และหลังจากนั้นจึงปลูกเพิ่มและทำผลผลิตให้ได้มาตรฐาน เมื่อผลผลิตมีมาตรฐานจะทำการตลาดได้ง่ายขึ้นสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ สำหรับใครที่ทำเกษตรและยังไม่ประสบผลสำเร็จ ควรไปดูและศึกษาจากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จจากสถานที่จริงเพื่อทราบถึงปัญหา วิธีการแก้ไข และยังมีคนคอยให้คำแนะนำเพื่อไปสู่ความสำเร็จได้ง่ายมากขึ้น
หากต้องการสั่งซื้อฝรั่งและต้นพันธุ์ฝรั่งไส้แดงจากสวนลุงเบิร์ด สามารถติดต่อได้ที่
หมายเลข : 097-462-5498
Facebook : สวนลุงเบิร์ด
………………………………………
เกษตรสัญจร สื่อเกษตรยุคใหม่ แหล่งข้อมูลสาระที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
รวมเรื่องเด็ด เกษตรกูรู ศูนย์รวมความรู้และเทคนิคการทำเกษตร
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเกษตรเพิ่มเติมได้ที่ :
𝗙𝗮𝗰𝗲𝗯𝗼𝗼𝗸: เกษตรสัญจร
𝗬𝗼𝘂𝗧𝘂𝗯𝗲: youtube.com/c/Kasetsanjorn
𝗧𝗶𝗸𝗧𝗼𝗸: tiktok.com/@kasetsanjorn
𝗦𝗵𝗼𝗽𝗲𝗲: shopee.co.th/kasetsanjorn
𝗟𝗜𝗡𝗘 𝗢𝗳𝗳𝗶𝗰𝗶𝗮𝗹: @kasetsanjorn
𝗕𝗹𝗼𝗰𝗸𝗱𝗶𝘁: blockdit.com/kasetsanjorn/
𝗧𝘄𝗶𝘁𝘁𝗲𝗿: twitter.com/kasetsanjorn/
𝗪𝗲𝗯𝘀𝗶𝘁𝗲: kasetsanjorn.com