กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แนะนำ“กัญชาพันธุ์ไทย 4 พันธุ์”
วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม 2564 นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ความรู้ในรายการ Cannabis to Know ผ่านระบบ Facebook live สถาบันกัญชาทางการแพทย์ ในหัวข้อ “กัญชาพันธุ์ไทย 4 พันธุ์” และให้เกียรติพาเยี่ยมชมแปลงปลูก กัญชาพันธุ์ไทย 4 พันธุ์ ณ สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กัญชาพันธุ์ไทย 4 พันธุ์ เป็นผลผลิตจากการพัฒนาศึกษา และวิจัยที่ครบวงจรทั้งการศึกษาทางด้านลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ลักษณะทางด้านเคมี (Chemical profile) และลักษณะทางสารพันธุกรรม (genetic profile)ที่มีแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย โดยแต่ละพันธุ์นั้นจะมีการควบคุมดูแล และมีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ดังรายละเอียดโดยย่อดังต่อไปนี้
- กัญชาพันธุ์หางกระรอกภูพานเอสที1 (ST1) ลักษณะใบ : ยาว 12 ซม. ก้านใบ 1-2 ซม. ใบยอ่ย 3-9 แฉก รูปหอก กว้าง 0.2- 1.3 ซม. ยาว1.2-10 ซม. สีเขียวอ่อน, ลักษณะช่อดอก : เป็นทรงสามเหลี่ยมแน่น ทรงรูปกรวยหรือทรงกระบอก 3-4 ม., ลักษณะเมล็ดพันธุ์ : ทรงไข่ผิวเรียบสีน้ำตาลครีม มีลายแถบตามยาวสีน้ำตาล ที่ปลายสุดของลายมีลักษณะเป็นวงกลม เป็นพันธุ์กัญชาที่ให้สารที่มี THC และ CBD ที่ใกล้เคียงกัน หรือ Type II
- กัญชาพันธุ์หางเสือสกลนครทีที1 (TT1) ลักษณะใบ : ยาว 12 ซม. ก้านใบ 1.5-3 ซม. ใบยอ่ย 3-9 แฉก รูปหอก กว้าง 0.5-1.5 ซม. ยาว 1.5-14 ซม. สีเขียวอ่อน, ลักษณะช่อดอก : เป็นช่อดอกย่อยห่าง ทรงรูปกรวยหรือทรงกระบอก 3.5-4.5 ม., ลักษณะเมล็ดพันธุ์ : ทรงไข่ผิวเรียบ สีน้ำตาลครีม มีลายแถบตามยาวสีน้ำตาล เป็นพันธุ์กัญชาที่ให้ปริมาณสาร THC ที่เด่นกว่า CBD Type I
- กัญชาพันธุ์ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิลยูเอ1 (WA1) ลักษณะใบ : ยาว 15 ซม. ก้านใบ 1.5-3 ซม. ใบยอ่ย 3-9แฉก รูปหอก กว้าง 0.5-1.2 ซม. ยาว 1.5-14 ซม. สีเขียวอ่อน, ลักษณะช่อดอก: เป็นทรงกระบอก ทรงพุ่มเตี้ย 2.0-2.5 ม., ลักษณะเมล็ดพันธุ์ : ทรงไข่ผิวเรียบ สีน้ำตาลครีม มีลายแถบสั้นตามยาว และลายแต้มสีน้ำตาลเข้ม เป็นพันธุ์กัญชาที่ให้ปริมาณสาร THC ที่เด่นกว่า CBD Type
- กัญชาพันธุ์ตะนาวศรีก้านแดงอาร์ดี1 (RD1) ลักษณะใบ : ยาว 15 ซม. ก้านใบ 1.5-3 ซม. ใบยอ่ย 3-9 แฉก รูปหอก กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 6-8 ซม. สีแดงม่วง หรือแดงอมเขียว, ลักษณะช่อดอก : เป็นทรงสามเหลี่ยมก้านแดง ทรงพุ่มเตี้ย 2.0-2.5 ม., ลักษณะเมล็ดพันธุ์ : ทรงไข่กลับ สีน้ำตาล ผิวเรียบ มีลายแถบสั้นตามยาว และลายแต้มสีน้ำตาลเข้ม ยอดแหลม เป็นพันธุ์กัญชาที่ให้ปริมาณสาร CBD ที่เด่นกว่า THC Type III
นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการปลูกกัญชาในจำนวนมากนั้น ต้องมีระบบโรงเรือนที่ได้มาตรฐานเพื่อป้องกันแมลงและศรัตรูของพืช ทางสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทย์ฯ จึงได้จัดทำโรงเรือนแบบ Green house สำหรับการปลูกกัญชาทั้ง 4 พันธุ์ สำหรับต้นพันธุ์ที่ต้องการทำเมล็ดจะปลูกในตู้ที่ครอบด้วยตาข่ายที่ความกว้าง 30 ไมครอน เพื่อป้องกันไม่ให้กัญชาผสมข้ามพันธุ์ นอกจากเรื่องการปลูก ทางกรมวิทย์ฯ ยังมีการพัฒนาระบบวิเคราะห์ที่อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย ดังนี้ 1. พัฒนาระบบวิเคราะห์ปริมาณการนำไปใช้ในอาหาร, เครื่องดื่ม, ยา, ตำรับยาสมุนไพร 2. ศึกษาวิจัยการตรวจหาปริมาณสารของกัญชาในเลือดผู้ป่วย 3. ศึกษาวิจัยรากกัญชาที่มีผลดีต่อการสมานเนื้อเยื่อปอด กรมวิทย์ฯ ได้วางแผนดำเนินการพัฒนาออกมาในรูปแบบเครื่องดื่ม 4. การคิดชุดทดสอบ จำแนกระหว่างพืชกัญชาและกัญชง ส่งมอบให้กับสาธารณสุขทุกแห่ง เพื่อให้เกษตรกรที่มีข้อสงสัยต้องการแยกระหว่างกัญชาและกัญชง สามารถไปติดต่อรับได้ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำวิธีควบคุมมาตรฐาน
จากการให้ความรู้ในรายการ Cannabis to Know ผ่านระบบ Facebook live ในหัวข้อ “กัญชาพันธุ์ไทย 4 พันธุ์” ในระหว่างดำเนินรายการ มียอดผู้เข้าชม จำนวน 42 คน ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น จำนวน 31 ความคิดเห็น มีผู้แชร์ live รายการ จำนวน 21 ครั้ง ผู้รับชมรายการย้อนหลัง จำนวน 384 ครั้ง สำหรับประเด็นข้อคำถามที่ประชาชนสอบถามเข้ามานั้น ได้แก่ 1. ประชาชนสามารถมาขอรับเมล็ดพันธุ์ จากกรมวิทย์ฯ ได้หรือไม่ 2. การขออนุญาตเข้าศึกษาดูงานของวิสาหกิจชุมชน ผลการตอบรับในการทำรายการมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าประชาชนให้ความสนใจกัญชาทั้งเชิงเศรษฐกิจและทางการแพทย์มากยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน