ทำความรู้จัก!! 5 โรคพืช มาพร้อมกับฝน
ฝนตกหนัก ปริมาณน้ำที่มากขึ้น มักจะมาพร้อมกับความชื้นในอากาศที่สูงขึ้น เกษตรกรหลายๆ คนอาจจะต้องเจอกับปัญหาที่เลี่ยงไม่ได้ อย่าง โรคพืชเป็นแน่ เกษตรสัญจรวันนี้เลยอยากชวนเพื่อนๆ มาทำความรู้จัก และวิธีการวางแผนรับมือที่ดีเพื่อป้องกันโรคพืชที่จะตามมากัน
โรคราน้ำค้าง
มักพบในพืชตระกูลแตง เช่น แตงกวา แตงร้าน แตงโม แตงไทย เมล่อน แคนตาลูป ซูกินี ฟักทอง ฟักเขียว ฟักแม้ว มะระจีน และบวบ อาการของโรคราน้ำค้าง ส่วนใบจะมีรอยจ้ำๆ สีขาว ขอบสีน้ำตาลกระจายอยู่ทั่ว แต่บางครั้งก็เป็นสีเหลืองด่างสีน้ำตาลเข้ม หรือเป็นจุดขาวเล็กๆ ซึ่งถ้าปล่อยไว้นานจะทำให้พืชอ่อนแอ และยังอาจทำให้ต้นอ่อนตายได้ด้วย
การระบาดของโรค มักเกิดในช่วงที่อากาศค่อนข้างเย็นและความชื้นสูง เชื้อราสาเหตุโรค สามารถแพร่ระบาดโดยลม น้ำ เครื่องมือการเกษตรและการเคลื่อนย้ายพืชปลูก ทั้งสามารถมีชีวิตอยู่ข้ามปีได้
การป้องกันกำจัด หมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบพืชที่แสดงอาการ ให้เก็บส่วนที่เป็นโรคออกและนำไปทำลายทิ้งนอกแปลง คลุกเมล็ดด้วยสารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา หรือแช่เมล็ดในน้ำอุ่นก่อนปลูก หากระบาดมากสามารถใช้สารเคมีไดเมโทมอร์ฟ ฉีดพ่นตามคำแนะนำ
โรคเหี่ยว (Wilt)
พบในพืชพวกแตงชนิดต่างๆ เช่น แตงกวา แตงร้าน แตงแคนตาลูบ (cantaloup) แตงไทย แตงโม ฟักแฟง ฟักทอง แตงสควอซ (squash) เป็นต้น
อาการโรคเหี่ยว คือพืชเกิดอาการเหี่ยวอย่างช้าๆ ใบที่อยู่โคนต้นจะเปลี่ยนเป็นสีหลืองและร่วง ต่อมาใบจะเหี่ยวทั้งต้น และเมื่อผ่าลำต้นบริเวณเหนือระดับดินตามยาวจะพบว่า ท่อน้ำ ท่ออาหารเป็นสีน้ำตาล ซึ่งการผิดปกติของท่อน้ำ ท่ออาหารนี้จะลงไปถึงส่วนรากด้วย
การแพร่ระบาด ของโรคนี้มักจะเกิดเป็นหย่อมๆ ถ้าสภาพอากาศมีอุณหภูมิสูงและดินมีความชื้นสูง ก็ยิ่งทำให้โรคนี้ระบาดได้ดี
การป้องกัน กำจัดโรคเหี่ยว หากพบโรคในแปลงปลูกต้องถอนต้นที่เป็นโรคมาทำลาย และก่อนปลูกต้นใหม่ควรปรับสภาพคืนด้วยปูนขาว และปุ๋ยคอก
โรคคอเน่า
มักพบในต้นกล้าของพืชผักและพืชไร่
ลักษณะอาการ ของโรคคอเน่า มักจะเกิดเฉพาะในแปลงต้นกล้า เพราะหว่านเมล็ดที่แน่นเกินไป ต้นเบียดกัน ถ้าในแปลงมีเชื้อโรคแล้ว ต้นกล้าจะเกิดอาการเป็นแผลช้าที่โคนต้นระดับดิน เนื้อเยื่อตรงแผลจะเน่าและแห้ง ถ้าถูกแสงแดดทาให้ต้นกล้าหักพับ ต้นเหี่ยวแห้งตายในเวลารวดเร็ว
การระบาด ของเชื้อราสามารถแพร่กระจายจากการติดมากับเมล็ดพันธุ์ อยู่ในดิน หรือแพร่กระจายโดยน้ำ
การป้องกันกำจัด ต้องเริ่มจากการเตรียมแปลงให้มีการระบายน้ำที่ดี อย่าให้มีน้ำขังแฉะ ใช้เมล็ดพันธุ์ดีไม่มีเชื้อจุลินทรีย์ติดมากับเมล็ด และมีความงอกสูง ไม่หว่านเมล็ดแน่นเกินไป ในส่วนของแปลงปลูกให้ปรับดินด้วยปูนขาว และปุ๋ยอินทรีย์ให้มาก ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ผสมกับดินปลูก รวมถึงหมั่นตรวจแปลงสม่ำเสมอ หากพบต้นเป็นโรค ต้องรีบขุดเอาดินและต้นที่เป็นโรคไปทำลายหรือฝังลึกนอกแปลง
โรคใบจุด
มักพบในพืชผักตระกูลกระหล่ำ
อาการของโรค ใบจุด มักจะเกิดขึ้นบนต้นกล้า จะเกิดเป็นแผลเล็กๆ สีน้ำตาลดำ ลักษณะคล้ายโรคเน่าคอ อาการในต้นแก่มักพบบนใบและก้าน ระยะแรกจะเกิดเป็นแผลจุดเล็กๆ สีเหลือง ต่อมาแผลจะขยายใหญ่ขึ้นมีสีน้ำตาลเข้มถึงดำ แผลมีลักษณะเป็นวงค่อนข้างกลม เรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ
การระบาดของโรค จะหนักมากในช่วงฤดูฝน และความชื้นสูง สปอร์ของเชื้อสาเหตุ สามารถแพร่กระจายไปตามนน้ำ ลม แมลง สัตว์ เครื่องมือเกษตรกร มนุษย์ และสามารถติดไปกับเมล็ดพันธุ์ได้ หรืออาศัยอยู่กับวัชพืชในแปลง
การป้องกันกำจัด ควรหมั่นสำรวจแปลงปลูกอยู่เสมอ เมื่อพบส่วนที่เป็นโรคให้เด็ดทิ้งและนำไปทำลายนอกแปลงปลูก การจัดการระบบน้ำให้ดี หากพบการระบาดรุนแรง สามารถฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดโรคพืช หรืออาจต้องมีการพักแปลง ตากดิน
โรคราสนิมขาวในผัก (White Rust)
มักพบในผัก เช่น ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว และในไม้ดอก เช่น เบญจมาศ
ลักษณะของโรค มีจุดสีเหลืองซีดด้านบนของใบ ด้านใต้ใบตรงกันข้าม จะเป็นตุ่มนูนเล็กๆ ขนาด 1-2 มิลลิเมตร อาจพบลักษณะปุ่มปม หรือบวมพองโตขึ้นในส่วนของก้านใบและลาต้น
การป้องกันกำจัด ต้องกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก หมั่นสำรวจแปลงปลูกอยู่เสมอ หากพบโรคในปริมาณน้อยให้ถอน หรือตัดเผาทำลาย แปลงที่เกิดโรคระบาด ควรงดการให้น้ำแบบพ่นฝอย และไม่ควรให้น้ำจนชื้นแฉะเกินไป รวมถึงใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มาคลุกเมล็ดหรือหว่านลงแปลงก่อนปลูก หรือฉีดพ่นป้องกันกำจัดโรค อัตราตามคำแนะนำ
อ้างอิง : กรมวิชาการเกษตร และสถานีวิทยุกระจายเสียงเพื่อการเกษตร
#เชื้อรา #เชื้อราหน้าฝน #หน้าฝน #โรคพืช #เกษตรสัญจร
………………………………………
เกษตรสัญจร สื่อเกษตรยุคใหม่ แหล่งข้อมูลสาระที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง รวมเรื่องเด็ด เกษตรกูรู ศูนย์รวมความรู้และเทคนิคการทำเกษตร
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเกษตรเพิ่มเติมได้ที่ :
Facebook : เกษตรสัญจร
LINE Official: @kasetsanjorn
Blockdit: blockdit.com/kasetsanjorn/
YouTube : youtube.com/c/Kasetsanjorn
Twitter : twitter.com/kasetsanjorn/
Website : kasetsanjorn.com