พันเอกชาญศักดิ์ ชาติชำนิ ข้าราชการวัยเกษียณ ทำฟาร์มแมงสะดิ้ง หลังจากเกษียณราชการมาแล้วกว่า 8 ปี โดยเริ่มต้นจากการเลี้ยงแมงสะดิ้งไว้แก้เหงา จากพื้นที่เล็ก ๆ ในบ้าน
ทำไมถึงมาเลี้ยงแมงสะดิ้ง
ตอนที่ยังอยู่กรุงเทพฯ พันเอกชาญศักดิ์มีเวลาว่างจึงได้ไปอบรมการวิธีการเลี้ยงแมงสะดิ้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 หลังจากนั้นจึงได้ทดลองเลี้ยงแมงสะดิ้งเพื่อนำมาเป็นอาหารปลาดุกโดยที่ไม่ต้องซื้ออาหาร และมีจังหวะที่ไปเจอเพื่อที่เลี้ยงแมงสะดิ้งเยอะและมีช่องทางการจำหน่าย จึงเพิ่มปริมาณการเลี้ยงโดยขยายบ่อเพิ่ม โดยเก็บได้ครั้งละ 100 กิโลกรัม
ปัจจุบันตลาดของแมงสะดิ้งเป็นอย่างไรบ้าง ?
ตลาดของแมงสะดิ้งจะไม่ตัน อย่างที่ฟาร์มจะจับได้ครั้งละ 100 กิโลกรัม สามารถขายได้เลยโดยที่ไม่ต้องหาตลาด จะมีคนเข้ามารับซื้อถึงที่บ้าน โดยจะต้มแพ็คใส่ถุงก่อนขาย ในราคาประมาณกิโลกรัมละ 80-90 บาท
แมงสะดิ้งเลี้ยงยากมั้ย ?
การเลี้ยงแมงสะดิ้งต้องคอยใส่ใจดูแลเรื่องอาหารเป็นหลัก หากเราซื้ออาหารมาเลี้ยงส่วนมากจะไปไม่ค่อยรอดเพราะมีต้นทุนที่สูง ที่ฟาร์มจึงผสมอาหารเอง โดยใช้กากมะพร้าวที่คั้นกะทิออกแล้ว นำมาผสมกับอาหารไก่ ในอัตราส่วน อาหาร 5 กิโลกรัม ต่อกากมะพร้าว 2-3 กิโลกรัม จะช่วยประหยัดค่าอาหารไปได้มาก
วงจรชีวิตของแมงสะดิ้ง
แมงสะดิ้งจะลอกคราบประมาณ 5 ครั้งในวงจรชีวิต เมื่อลอกคราบครบ 5 ครั้งจะเริ่มติดปีกและพร้อมที่จะวางไข่ โดยการนำขุยมะพร้าวใส่ขันไปวางในบ่อเพื่อให้จิ้งหรีดขึ้นมาวางไข่ และจะครบวงจรภายใน 45 วัน อยู่ได้ไม่เกิน 60 วันจะค่อย ๆ ทยอยตาย
แมงสะดิ้งใช้เวลาเลี้ยงนานมั้ย ?
แมงสะดิ้งใช้เวลาเลี้ยงแค่ 45 วัน ก็สามารถจับไปจำหน่ายได้แล้ว โดยระยะ 45 วัน จะอยู่ในช่วงที่วางไข่ครั้งแรกและสามารถจับไปจำหน่ายได้เลยหากต้องการให้มีไข่ติดท้อง
การเลี้ยงแมงสะดิ้งมีปัญหาอะไรบ้าง ?
การเลี้ยงแมงสะดิ้งอาจจะมีหนอนมารบกวน โดยจะวางไข่ในบ่อ ทำให้ไปรบกวนการเจริญเติบโตของแมงสะดิ้ง โดยจะคอยไปแย่งอาหาร และถ้าอากาศร้อนมากจะทำให้แมงสะดิ้งน๊อคและตายไปจำนวนมาก วิธีการป้องกัน หากบ่อไหนมีหนอนจะทำการเผาหนอนทิ้งทั้งหมดและพักบ่อ หรือในช่วงที่อากาศร้อนมาก ๆ จะลดปริมาณการเลี้ยงลง และที่สำคัญจะมีมดเข้ามากินไข่แมงสะดิ้งต้องมีการป้องกันมดให้ดี
วิธีการทำบ่อเลี้ยงแมงสะดิ้ง
ที่ฟาร์มจะทำบ่อเลี้ยงแมงสะดิ้งขนาด 3×3.5 เมตร หรือ 2×4 เมตร ในบ่อจะมีรังไข่รองไว้ประมาณ 1,000 กว่าใบ สำหรับให้แมงสะดิ้งหลบซ่อน โดยไม่ใส่แน่นเกินไป และวางไข่สะดิ้งประมาณบ่อละ 20 ขัน มีขวดน้ำที่ประยุกต์สำหรับให้น้ำโดยวางบนกระเบื้องลอนหรือท่อพีวีซีป้องการหก และการเตรียมถาดสำหรับให้อาหารโดยสามารถให้กล้วยหรือผักเสริมได้
ได้สูตรอาหารเสริมแมงสะดิ้งมาจากที่ไหน ?
ที่ฟาร์มจะให้กากมะพร้าวผสมในอาหาร เนื่องจากกากมะพร้าวเป็นส่วนผสมที่มักจะผสมในอาหารสัตว์อยู่แล้ว และได้ไปดูเทคนิคในยูทูปซึ่งกากมะพร้าวถ้ายังไม่ได้คั้นจะมีโปรตีนแค่ 8 เปอร์เซนต์ แต่ถ้ามีการคั้นน้ำแล้วจะมีโปรตีนมากถึง 22 เปอร์เซนต์ ซึ่งอาหารจิ้งหรีดปกติจะมีโปรตีนอยู่ที่ 18-20 เปอร์เซนต์ เมื่อนำกากมะพร้าวมาผสมจะสามารถช่วยลดต้นทุนค่าอาหารได้มาก
การเลี้ยงแมงสะดิ้งต้องดูแลยังไงบ้าง ?
ในช่วงเช้าจะต้องคอยให้อาหารและคอยพรมน้ำเพื่อลดอุณหภูมิในช่วงเวลากลางวัน เมื่อถึงช่วงเย็นจะคอยเติมอาหารอีกครั้ง และคอยดูแลทำตาข่ายกันนกเข้ามากินแมงสะดิ้ง
วิธีการเก็บไข่แมงสะดิ้ง
แมงสะดิ้งจะเริ่มไข่หลังจากอายุได้ 35-40 วัน หลังจากติดปีกจะเริ่มทำการรองไข่ โดยใช้เวลา 2 วัน ในการรองไข่ ซึ่งสามารถเก็บไข่ได้ถึง 3 ครั้ง แต่หากต้องการให้ไข่ติดไปในช่วงที่ขายสามารถรองไข่เพียงแค่ 1 ครั้ง และปล่อยให้ไข่ติดท้องไปเพราะแมงสะดิ้งที่มีไข่จะขายได้ราคาดีกว่า เพราะจะมีความมัน รสชาติอร่อย เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค
การบ่มไข่แมงสะดิ้ง
หลังจากที่เก็บไข่แมงสะดิ้งเรียบร้อยแล้ว สามารถนำไข่ไปบ่มโดยการนำขันที่มีไข่ใส่ลงไปในถุงพับปากเล็กน้อย ตั้งไว้ในที่ร่ม 7 วัน และค่อยย้ายมาลงบ่อ
การเก็บแมงสะดิ้งไปจำหน่าย
เมื่อครบระยะ 45 วันหลังจากที่รองไข่แล้ว และรอให้แมงสะดิ้งมีไข่ติดท้องอีกครั้ง จะเริ่มทำการจับโดยการนำรังไข่ที่มีแมงสะดิ้งมาเคาะใส่กะละมัง หลังจากนั้นจะทำความสะอาดบ่อและเก็บขี้แมงสะดิ้งออกโดยสามารถนำขี้ไปจำหน่ายเป็นอาหารปลาได้ เพราะมีโปรตีนสูงจากอาหารที่ทานเข้าไป
ทำไมถึงเลี้ยงแค่แมงสะดิ้ง ?
การเลี้ยงแมงสะดิ้งจะสามารถทนต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าจิ้งหรีด ถึงแม้อายุในการเลี้ยงจะมากกว่ากว่าจิ้งหรีดไป 5 วัน และมีราคาเท่ากัน แต่มีโอกาสที่รอดสูงและดูแลง่ายกว่าจิ้งหรีดมาก
การเลี้ยงแมงสะดิ้งสามารถเป็นอาชีพเสริมได้มั้ย ?
แมงสะดิ้งหากเลี้ยงในปริมาณน้อยสามารถเป็นอาชีพเสริมได้ แต่หากเลี้ยงในปริมาณมากสามารถทำเป็นอาชีพหลักได้เลย ซึ่งที่ฟาร์มทำเป็นอาชีพเสริมเนื่องจากปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญจึงเลี้ยงในปริมาณไม่มากเพื่อเป็นงานอดิกเรก
คนที่อยากเริ่มเลี้ยงควรทำยังไงบ้าง ?
การเลี้ยงแมงสะดิ้งสามารถเริ่มเลี้ยงจากปริมาณน้อย ๆ และเริ่มจำหน่ายในหมู่บ้านก่อน จากนั้นจึงค่อยเพิ่มปริมาณหากมีตลาดรองรับ ซึ่งส่วนมากจะมีพ่อค้าคอยรับซื้อเป็นประจำ โดยสามารถเริ่มต้นจากเงินทุนประมาณ 1,000 บาท ก่อน โดยสามารถใช้วงบ่อซีเมนต์ และซื้อรังไข่เก่า อาหารไก่ มาเตรียมไว้ และไข่แมงสะดิ้ง 2 ขัน ก็จะสามารถเลี้ยงแมงสะดิ้งได้
คำแนะนำสำหรับคนที่กำลังจะเกษียณ
ต้องมีการเริ่มวางแผนตั้งแต่ก่อนเกษียณ ไม่ต้องรอวางแผนหลังจากที่เกษียณแล้วเพราะจะช้าเกินไป ซึ่งพันเอกชาญศักดิ์ วางแผนตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นทหารและยังไม่เกษียณจึงทำให้มีการเตรียมตัวไว้ก่อนและสามารถมาทำต่อเนื่อง ทำให้ประสบความสำเร็จได้
หากสนใจเทคนิคการเลี้ยงแมงสะดิ้งจากพันเอกชาญศักดิ์ สามารถติดต่อได้ที่
หมายเลข : 084-1010-564
………………………………………
เกษตรสัญจร สื่อเกษตรยุคใหม่ แหล่งข้อมูลสาระที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
รวมเรื่องเด็ด เกษตรกูรู ศูนย์รวมความรู้และเทคนิคการทำเกษตร
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเกษตรเพิ่มเติมได้ที่ :
𝗙𝗮𝗰𝗲𝗯𝗼𝗼𝗸: เกษตรสัญจร
𝗬𝗼𝘂𝗧𝘂𝗯𝗲: youtube.com/c/Kasetsanjorn
𝗧𝗶𝗸𝗧𝗼𝗸: tiktok.com/@kasetsanjorn
𝗦𝗵𝗼𝗽𝗲𝗲: shopee.co.th/kasetsanjorn
𝗟𝗜𝗡𝗘 𝗢𝗳𝗳𝗶𝗰𝗶𝗮𝗹: @kasetsanjorn
𝗕𝗹𝗼𝗰𝗸𝗱𝗶𝘁: blockdit.com/kasetsanjorn/
𝗧𝘄𝗶𝘁𝘁𝗲𝗿: twitter.com/kasetsanjorn/
𝗪𝗲𝗯𝘀𝗶𝘁𝗲: kasetsanjorn.com