การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังขยายวงกว้างส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมมาตรการยับยั้งการระบาดของโรคโดยการปิดสถานที่ที่มีประชากรหนาแน่น เช่นห้างสรรพสินค้าตลาด รวมไปถึงสถานบริการต่าง ๆทั่วทั้งกรุงเทพ และปริมณฑลส่งผลให้ลูกจ้างแรงงานจำนวนมากต้องเผชิญสถานการณ์การว่างงาน
หลายคนตัดสินใจเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่คนพากันกักตุนอาหารจนอาจนำไปสู่ภาวะขาดแคลนอาหารขึ้นได้ ซึ่งเกษตรกรรมต้นสายแห่งการผลิตอาหารอันเป็นปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์กลายเป็นหนทางรอดของกลุ่มแรงงานกลับภูมิลำเนาที่จะช่วยให้ผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ไปได้
ดร.วรณิกา นาควัชระ บีดิงเฮาส์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมฯนวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทยหรือไททา (TAITA) กล่าวว่า อยากให้มองวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่าเป็นโอกาสสำหรับแรงงานที่มีความจำเป็นต้องกลับภูมิลำเนาซึ่งชีวิตคนต่างจังหวัดมีโอกาสมากกว่าคนในเมืองทั้งในแง่ของพื้นที่ ซึ่งที่อยู่อาศัยคนในกรุงเทพฯเป็นคอนโดเสียส่วนใหญ่ที่ดินเหลือเปล่ามี จำกัด ในขณะที่คนในต่างจังหวัดจะมีพื้นที่ในบ้านเพียงพอที่จะเพาะปลูกพืชผักเพื่อบริโภคในครัวเรือนได้หรืออาจมีเพียงพอที่จะเจียดผลผลิตส่วนหนึ่งออกขายสร้างรายได้เพื่อนำมาใช้จ่ายจิปาถะในครัวเรือนได้ด้วย
นอกจากนี้การเข้าถึงปัจจัยการผลิตทางการเกษตรในต่างจังหวัดก็ง่ายกว่าในกรุงเทพฯไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ปุ๋ยและปัจจัยการผลิตอื่น ๆ สำหรับแรงงานที่มีความจำเป็นต้องกลับภูมิลำเนาที่อาจไม่ได้มีพื้นที่ หรือทรัพยากรในการลงทุนมากนัก
การทำ“ เกษตรผสมผสาน” จึงเป็นทางเลือกที่จะทำให้ได้ผลผลิตที่หลากหลาย สามารถลดความเสี่ยง มีผลผลิตบริโภค และเหลือขาย นอกจากนี้การคิด และวางแผนให้กิจกรรมทางการเกษตรต่าง ๆเกื้อกูลประโยชน์ต่อกันยังสามารถลดค่าใช้จ่าย และลดการใช้ปัจจัยการผลิตภายนอกทำให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง
“วิกฤตครั้งนี้ทำให้เราต้องหันกลับมามองตัวเองว่าเราควรมีแผนสองในการดำรงชีวิตเสมอ และควรยึดหลักการอยู่อย่างพอเพียงตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จะช่วยให้เราสามารถผ่านวิกฤตไปได้อย่างดีมีสุขดังนั้นการเริ่มต้นจากการหันมาปลูกพืชผักในยามนี้จะเป็นทางออกที่ทำได้โดยง่ายและยั่งยืน” ดร.วรณิกากล่าว
สำหรับการทำการเกษตรให้ประสบความสำเร็จได้ผลผลิตสูง และมีคุณภาพนั้นเกษตรกรในยุคก่อนอาจต้องใช้เวลา และประสบการณ์มากในการลองผิดลองถูกเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ และหาทางแก้ปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง หรือโรคระบาด แต่ในปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาวิจัย และพัฒนาตัวช่วยที่จะทำให้เกษตรกรสามารถผลิตผลิตผลทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากขึ้น
องค์ความรู้ และนวัตกรรมทางการเกษตรจะเข้ามาช่วยลดต้นทุนการผลิต และอำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรในขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การปรับปรุงพันธุ์พืชคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ ไปจนถึงการพัฒนาสารอารักขาพืชเพื่อลดความสูญเสียทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพคุ้มค่าการลงทุนไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมสารเคลือบเมล็ดพันธุ์ที่ช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์การงอกทั้งยังช่วยให้พืชมีความแข็งแรงทนทานต่อโรค และศัตรูพืช สามารถลดการใช้สารเคมี และลดการใช้แรงงานจึงช่วยเกษตรกรลดค่าใช้จ่ายในการดูแลได้มากเป็นต้น
กรมวิชาการเกษตรจึงได้มีการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีหรือจีเอพี (GAP) ซึ่งเป็นโมเดลที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรไทยด้วยการกำหนดแนวทางในการทำการเกษตรที่ทุกกระบวนการผลิตจะต้องปลอดภัยต่อเกษตรกรผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมมีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดผลิตผลทางการเกษตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าเป็นสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ และปลอดภัยจึงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต ในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความยั่งยืนทางการเกษตรสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมไทยด้วย
ดร.วรณิกา แนะนำว่า ให้ศึกษาหาข้อมูล และวางแผนให้ดีก่อนลงมือทำต้องทำความรู้จักพื้นที่ของตนทั้งดิน น้ำและสภาพภูมิอากาศเพื่อจะสามารถเลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสมได้ควรเริ่มต้นจากการปลูกพืชระยะสั้นเน้นไว้ทำครัวในบ้านเหลือจึงน่าออกขายสร้างรายได้ เช่น ผักกาดหอม ต้นอ่อนทานตะวัน กวางตุ้ง เป็นต้น แล้วจึงค่อยเลือกปลูกพืชที่ใช้ระยะเวลายาวนานขึ้นควบคู่ไปด้วยเน้นให้ผลผลิตออกในช่วงที่ราคาสูง เช่น ขายมะนาวช่วงหน้าแล้ง
การปลูกพืชผักจำเป็นต้องมีการเตรียมดินให้อุดมสมบูรณ์มีสารอาหารครบตามที่พืชต้องการจึงควรบำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ และอีกขั้นตอนที่ต้องใส่ใจมากคือ การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณภาพ และปริมาณผลผลิต ควรเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ตระกูลดีทนทานต่อโรค และศัตรูพืช โดยควรทดสอบเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกเพื่อดูปริมาณความงอกจะได้ไม่ต้องเสียงลงทุนลงแรง และเสียเวลาไปโดยได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า
เกษตรกรรมเป็นรากฐานของสังคมไทยมาช้านานหากเราหันกลับมาพัฒนาการเกษตรไทยให้ก้าวหน้าโดยการใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยจะทำให้เกษตรกรไทยสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน
ไม่แน่ว่าหลังจบวิกฤตโควิดนี้ การทำการเกษตรที่เน้นคุณภาพจะกลายมาเป็นอาชีพใหม่ให้กับพี่น้องแรงงาน สร้างรายได้ยาวๆ และยั่งยืนเลยก็ได้นะครับ สุดท้ายนี้ทางทีมงานเกษตรสัญจรก็พร้อมเป็นกำลังใจสำคัญให้พี่น้องชาวเกษตรกร และแรงงานไทยทุกคนผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้นะครับ : )
ขอบคุณข้อมูลจาก THE BANGKOK INSIGHT (https://www.thebangkokinsight.com/322433/)
เรียบเรียง : ทีมงานเกษตรสัญจร