ในห้องเรียนชีวิตของ NooJo art and farm (หนูโจ อาร์ตแอนด์ฟาร์ม)
วิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบชนบทท่ามกลางธรรมชาติที่ “NooJo art and farm (หนูโจ อาร์ตแอนด์ฟาร์ม)” และพาทุกคนไปค้นหาแรงบันดาลใจจากเจ้าของ คุณหนู – ภัทรพร อภิชิต และคุณโจ – วีรวุฒิ กังวานนวกุล
คุณหนูเล่าให้ฟังว่า “จริง ๆ แล้วเราสองคนไม่ใช่คนพื้นที่ ก่อนหน้านี้พี่โจได้เปิดร้านทุ่งนากาแฟ ซึ่งเป็นร้านแรกๆ ในตลาดน้ำอัมพวา ส่วนพี่เป็นบรรณาธิการของนิตยสารฉบับหนึ่ง แล้วได้มีโอกาสมาที่แม่กลอง จนได้มาทำความรู้จักกับพี่โจ ได้มาสัมผัสชีวิตที่อัมพวา ก่อนจะตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน หลังจากนั้นก็เริ่มรู้สึกว่าบ้านที่เราสองคนอยู่มันเป็นบ้านหลังเล็ก ๆ ไม่มีบริเวณที่จะทำอะไรได้มากนัก บวกกับความตั้งใจที่อยากอยู่กับธรรมชาติตั้งแต่ต้น จึงมองหาที่ดินสักผืนหนึ่งวันหนึ่งได้มาเจอที่ตรงนี้ก็ตัดสินใจซื้อเลยทันที”
หลังจากที่ทั้งคู่ตัดสินใจซื้อที่ดินผืนนี้ไว้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ระหว่างนั้นก็ปลูกต้นไม้ไปเรื่อย ๆ สลับกับการเดินทางไปญี่ปุ่น ผ่านไป 4 ปีทั้งคู่ก็ตัดสินใจที่จะกลับมาสร้างพื้นที่แห่งนี้ด้วยกัน โดยเริ่มต้นจากการวางแผนผังเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิต รวมถึงรองรับเพื่อนๆ และจิตอาสาที่เข้ามาร่วมเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับพวกเขาอีกด้วย
คุณโจเล่าให้ฟังว่า “เดิมทีพื้นที่ตรงนี้เป็นท้องนาไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ต่อมาก็กลายเป็นฟาร์มปลาสลิด ซึ่งตอนเรามาเจอพื้นที่ตรงนี้เต็มไปด้วยต้นไม้และบ่อน้ำเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ จึงวางแผนที่จะทำอาคารแกลเลอรี่บนน้ำ แต่ด้วยโครงสร้างที่ต้องใช้งบประมาณมาก เลยหันมาทำบนพื้นดินแทน ทำให้ได้โครงสร้างที่ใหญ่และแข็งแรงในงบประมาณซึ่งไม่สูงจนเกินไป แถมยังรองรับการใช้งานได้มากขึ้น”
คุณหนูเสริมว่า “ความตั้งใจแรกคือการสร้างที่นี่ให้เป็นแกลเลอรี่อย่างเดียว แต่ทุกอย่างในชีวิตเรามันมีหลายมิติ แล้วเราก็ต้องทำทุกอย่างไปพร้อม ๆ กัน จึงสร้างพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นพื้นที่ที่หลากหลาย ทั้งทำเกษตร ทำอาหาร ที่พัก แต่คงไว้ซึ่งความเรียบง่าย”
ตัวอาคารอเนกประสงค์เป็นอาคารโครงสร้างเหล็ก มีรูปแบบเหมือนกับโรงนาสมัยก่อน มีประตูหน้าต่างขนาดใหญ่ บวกกับมีหลังคาสูงโปร่ง ทำให้มีลมพัดผ่านตลอดทั้งวัน ภายในมีพื้นที่กว้างขวางสามารถรองรับได้หลายกิจกรรมทั้งเป็นมุมทำงานศิลปะ ร้านขายของทำมือ และเป็นแกลเลอรี่สำหรับจัดแสดงผลงานของเจ้าของอีกด้วย คุณหนูเล่าให้ฟังว่า “เหตุผลที่เลือกออกแบบให้เป็นอาคารสไตล์นี้ เพราะเราต้องการให้มีชั้นลอย ดังนั้นหลังคาจึงต้องสูง แต่ว่าด้วยงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องคิดเผื่อและเตรียมโครงสร้างที่สามารถรับน้ำหนักของชั้นลอยไว้ได้ด้วย ซึ่งอาคารรูปทรงนี้ถ้าไม่คำนึงถึงขนาดก็จะดูแปลกๆ ระหว่างทำเราก็จะปรึกษากันตลอด โดยเน้นจุดมุ่งหมายที่มีเป็นหลัก แล้วนำมาปรับให้ดูเรียบง่ายและมีความเป็นเราที่สุด”
คุณหนูเสริม “ถ้าถามว่าเรานำทฤษฎีของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้อย่างไร เรียกได้ว่าทุกอย่างในชีวิตของเรา เริ่มตั้งแต่การใช้เงิน ไปจนถึงกินของที่ทำเอง เพราะความหมายของคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้พูดเรื่องรวยหรือจน ไม่ใช่แค่มาทำเกษตรอย่างเดียว แต่สอนให้เรารู้จักประมาณตน อยู่กับความมีเหตุมีผล การไม่มีหนี้ ทำทุกอย่างเท่าที่มี ถือเป็นหลักในชีวิตเลยก็ว่าได้
“ความยากของการมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่คือ มันค่อนข้างใช้เวลานาน และต้องอยู่กับมันตลอด เพราะถ้าแค่มีเงินมากพอทุกอย่างก็จบ สามารถเนรมิตให้สวยได้ดั่งใจในเวลาที่รวดเร็ว แต่ในเมื่อเราไม่ได้มีกำลังมากพอ เราจึงต้องค่อยๆ ทำไปเรื่อย ๆ แต่ข้อดีก็คือ เราได้อยู่กับมันตั้งแต่ต้น ได้สะสมความชอบมาเรื่อย ๆ ทำให้เราได้เห็นค่าของวัสดุที่มีอยู่ แล้วนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์”
ในส่วนของที่พัก ได้รับการออกแบบให้เป็นบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ชั้นล่างเป็นมุมครัวและมุมรับประทานอาหาร ชั้นสองเป็นห้องนอนสไตล์เรียบง่าย ถัดจากบ้านพักออกแบบให้เป็นบาร์แบบกึ่งเอ๊าต์ดอร์ ภายในจัดวางเตาฟืนและเตาพิซซ่าที่ทำขึ้นเองจากดิน ถือเป็นมุมที่พี่หนูคลุกคลีอยู่เป็นประจำ
โดยเตาอบพิซซ่า เป็นเตาที่สร้างขึ้นเองขั้นตอนการทำและวัสดุที่เลือกใช้เป็นแบบเดียวกับการสร้างบ้านดิน โดยผสมดินเข้ากับแกลบ และฟางแล้วก่อขึ้นรูป นอกจากจะอบพิซซ่าได้ดีแล้วยังทนทานต่อการใช้งานอีกด้วย
คุณหนูเล่าให้ฟังว่า “ปกติพี่ไม่ค่อยได้ทำอาหารเลย ก่อนหน้านี้ก็ใช้ชีวิตปกติอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่พอใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติก็ไม่เป็นเหมือนคนเมืองทั่วไปมาอยู่ที่นี่หลายอย่างต้องทำด้วยตัวเอง เพราะที่นี่ไม่มีอะไรพร้อม ถ้าเราอยากได้ อยากกินอะไร เราก็ต้องหา ต้องทำเอาเอง เราจึงได้พบว่าทุกวันเราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หมดทุกอย่างแล้วเราก็เลยอยู่ได้เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่ปรับตัวได้กับทุกสถานที่แม้แต่สัตว์ พืช ก็ยังปรับตัวได้ แต่ติดที่ความกลัวและทัศนคติที่มันครอบคลุมเราไว้”
นอกจากนี้ยังมีมุมขายของที่ระลึกที่ตั้งอยู่ภายในอาคารอเนกประสงค์ ภายในจัดวางของทำมือต่าง ๆ มีทั้งงานไม้ งานผ้า งานปั้น และภาพถ่ายที่ได้จากการเดินทางของทั้งคู่
นับเป็นชีวิตที่เรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติ แถมยังน่าอิจฉาในช่วงวิกฤตโรคระบาดโควิดอีก แต่ถึงอย่างไรแม้ว่าเราจะเป็นคนเมือง ที่มีพื้นที่ไม่มากนัก แบบคุณหนู และคุณโจ ในช่วงที่ต้องอยู่บ้านเปื่อย ๆแบบนี้ เราลองปรับใช้พื้นที่เล็ก ๆ ในบ้านของเรา ลองปลูกผักสวนครัวง่าย ๆ หรือทำสิ่งประดิษฐ์จากของเหลือใช้ในบ้านกันดีกว่า เพื่อสุขภาพจิตที่ดีของเรากันนะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก my home (https://www.baanlaesuan.com/53376/houses/noojo-art-farm)
facebook : Noojo art and farm
เรียบเรียง : ทีมงานเกษตรสัญจร