โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก อันตรายหน้าร้อนที่ต้องระวัง
โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heatstroke) โรคอันตรายที่มักพบได้บ่อยในช่วงหน้าร้อน ซึ่งส่งผลอันตรายถึงแก่ชีวิต
อากาศร้อนๆ แบบนี้ อีกหนึ่งโรคอันตรายที่ต้องระวังก็คือ โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heatstroke) นั่นเอง ซึ่งโรคนี้เกิดได้ทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็น ผู้สูงอายุ วัยทำงาน วัยรุ่น หรือเด็กเล็ก อีกทั้งยังอันตรายถึงชีวิตอีกด้วย เกษตรสัญจรจึงอยากชวนเพื่อนๆ เกษตรกรมาทำความรู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heatstroke) กันสักนิด เพราะอย่างที่รู้กันดีว่าอากาศของประเทศไทยมี 3 ฤดูก็จริง แต่ก็ยังพบกับอากาศที่ร้อน ร้อนมาก และร้อน… (เว้นไว้ให้เติมเอง) อยู่ดี อีกทั้งอาชีพเกษตรกรอย่างเราๆ จะให้หลีกเลี่ยงแสงแดดบางครั้งก็เป็นเรื่องยาก ซึ่งโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heatstroke) คืออะไร มีอาการอย่างไร และสามารถป้องกันได้ด้วยวิธีไหน เกษตรสัญจรรวบรวมมาไว้ให้แล้ว
โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heatstroke) คืออะไร
โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heatstroke) เป็นโรคที่พบเจอได้มากในช่วงหน้าร้อน ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไปจนทำให้ความร้อนในร่างกาย (core temperature) สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส โดยเมื่อไหร่ที่เกิดอาการตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีเหงื่อออก รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน อาการที่แตกต่างจากการเพลียจากแดดทั่วๆ ไป ก็ควรได้รับการรักษาในทันที เพราะอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ ที่สำคัญหากได้รับการรักษาที่ล่าช้า ก็อาจจะส่งผลอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
อาการของโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heatstroke)
โดยอาการเบื้องต้นของโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heatstroke) ได้แก่ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน วิตกกังวล สับสน ปวดศรีษะ ความดันต่ำ หน้ามืด หัวใจเต้นเร็ว กระสับกระส่าย หายใจหอบ ตัวแดง ไวต่อสิ่งเร้าง่าย ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดจากที่อยู่ท่ามกลางอากาศร้อนมากเกินไป เช่น การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมท่ามกลางอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน จึงทำให้เกิดภาวะร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ และเมื่อร่างกายเกิน 40 องศาเซลเซียส ร่างกายจะไม่สามารถควบคุมได้
วิธีป้องกันโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heatstroke)
ซึ่งโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heatstroke) สามารถป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในอากาศที่ร้อนจัดหรือกลางแจ้งเป็นเวลานานๆ หรือหากไม่สามารถเลี่ยงได้ ควรเลือกเวลาที่ต้องการทำกิจกรรมใหม่ เช่น ช่วงเช้ามืด หรือระหว่างพระอาทิตย์ตกดิน แต่หากมีความจำเป็นที่จะต้องออกไปกลางแจ้งจริงๆ ก็แนะนำให้หาอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น สวมใส่เสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติระบายอากาศได้ดี หมวก หรือร่มไว้ปกป้องตนเองจากแสงแดดด้วย ที่สำคัญคือ ควรดื่มน้ำให้มากและเพียงพอต่อร่างกายของตนเอง หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ เช่น เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน กาแฟ เหล้า เบียร์ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้เสียน้ำทางปัสสาวะในปริมาณสูง หากไม่สามารถชดเชยน้ำได้มากพอ จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคลมแดดได้
สุดท้ายไม่ว่าอย่างไรก็ตามโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heatstroke) ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ซึ่งผู้ที่เกิดอาการต้องได้รับความช่วยเหลือในทันที ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสมองและอวัยวะที่สำคัญในร่างกาย
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการแพทย์, โรงพยาบาลวิภาวดี และโรงพยาบาลเปาโลโชคชัย 4
………………………….
เกษตรสัญจร สื่อเกษตรยุคใหม่ แหล่งข้อมูลสาระที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
รวมเรื่องเด็ด เกษตรกูรู ศูนย์รวมความรู้และเทคนิคการทำเกษตร
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเกษตรเพิ่มเติมได้ที่ :
Facebook : เกษตรสัญจร
LINE Official: @kasetsanjorn
Blockdit: blockdit.com/kasetsanjorn/
YouTube : youtube.com/c/Kasetsanjorn
Twitter : twitter.com/kasetsanjorn/
Website : kasetsanjorn.com
#เกษตรสัญจร #สื่อเกษตรยุคใหม่ #ศูนย์รวมความรู้เพื่อเกษตรกร #โรคลมแดด #โรคฮีทสโตรก