กรมวิชาการเกษตร แนะนำเกษตรกรในช่วงที่อากาศร้อนและแล้งเช่นนี้ ยิ่งในสวนส้มเปลือกล่อนควรเฝ้าระวังการเข้าทำลายของเพลี้ยไก่แจ้ส้ม
จะพบในระยะที่ต้นส้มแตกยอดอ่อนและติดผล เกษตรกรควรสังเกตตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากตาและยอดอ่อน โดยตัวอ่อนของเพลี้ยไก่แจ้ส้มจะกลั่นสารสีขาวเป็นเส้นด้ายทำให้เกิดราดำ ใบและยอดที่ถูกเพลี้ยไก่แจ้ส้มทำลายจะหงิกงอและแห้งเหี่ยว กรณีพบการเข้าทำลายถึงขั้นรุนแรง จะทำให้ใบร่วงติดผลน้อยหรือไม่ติดผลเลย นอกจากที่เพลี้ยไก่แจ้ส้มจะเข้าทำลายยอดอ่อนต้นส้มโดยตรงแล้ว เพลี้ยไก่แจ้ส้มยังเป็นพาหะที่ถ่ายทอดทำให้เกิดโรคใบเหลืองต้นโทรมหรือโรคกรีนนิ่ง ซึ่งเป็นโรคที่สามารถแพร่กระจายไปเกือบทุกแหล่งที่ปลูกส้ม อีกทั้งยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้นส้มทรุดโทรมและตายในที่สุด
เพลี้ยไก่แจ้ส้ม
ซึ่งแนวทางการแก้ไข โดยในระยะที่ต้นส้มแตกตาและมียอดอ่อนให้เกษตรกรหมั่นสำรวจการเข้าทำลายของเพลี้ยไก่แจ้ส้ม หากสุ่มพบเพลี้ยไก่แจ้ส้มทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย 5 ยอดต่อต้น จำนวน 10-20 ต้นต่อสวน และในแหล่งที่มีการระบาดของโรคใบเหลืองต้นโทรมหรือโรคกรีนนิ่ง เกษตรกรควรใช้วิธีป้องกันกำจัดในทันที โดยให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลง อิมิดาโคลพริด 70% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 2 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดโนทีฟูแรน 10% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโคลไทอะนิดิน 16% เอสจี อัตรา 2 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
ขอขอบคุณข้อมูลจาก กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
(http://at.doa.go.th/ew/pdf/234_apr63_3.pdf)
เรียบเรียงโดย : ทีมงานเกษตรสัญจร